Economies

บาท“แข็งค่า”เปิดเช้านี้ที่ 36.29 บาท/ดอลลาร์  หลังเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ เดือนเมษายนชะลอตัว 
16 พ.ค. 2567

เงินบาท“แข็งค่าขึ้นมาก” เปิดเช้านี้ที่ 36.29 บาท/ดอลลาร์ หลังเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ เดือนเมษายน ชะลอลง  Krungthai GLOBAL MARKETS มองกรอบวันนี้ คาดจะอยู่ที่ 36.10-36.35 บาท/ดอลลาร์ รอจับตาถ้อยแถลงเจ้าหน้าที่เฟด ถึงท่าทีนโยบายลดดอกเบี้ย

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  36.29 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นมาก” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  36.55 บาทต่อดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง (แกว่งตัวในช่วง 36.26-36.59 บาทต่อดอลลาร์) โดยเงินบาททยอยแข็งค่าขึ้น ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ และการปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในเดือนเมษายน ชะลอลงตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ อีกทั้ง ยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนเมษายน ก็ออกมาทรงตัว แย่กว่าที่ตลาดประเมินไว้ว่าจะขยายตัวกว่า +0.4%m/m ทำให้ผู้เล่นในตลาดคลายกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดมากขึ้น และปรับเพิ่มโอกาสที่เฟดจะลดดอกเบี้ยราว 2 ครั้งในปีนี้ นอกจากนี้ เงินบาทยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของราคาทองคำกว่า +30 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างทยอยขายทำกำไรทองคำและโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงคืนที่ผ่านมา

บรรดาผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ เดินเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หลังรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ที่ชะลอลงตามคาด กอปรกับยอดค้าปลีกที่ออกมาแย่กว่าคาด ทำให้ ผู้เล่นในตลาดยังคงมีความหวังต่อการลดดอกเบี้ยราว 2 ครั้งของเฟดในปีนี้ ซึ่งภาพดังกล่าวได้หนุนให้ บรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ รวมถึงหุ้นสไตล์ Growth ต่างปรับตัวขึ้น นำโดย Nvidia +3.6%, Meta +2.1% หนุนให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +1.17% ทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง +0.59% หนุนโดยรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ที่ออกมาดีกว่าคาด ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจยูโรโซนก็สามารถขยายตัวได้ราว +0.4%y/y (+0.3%q/q) ตามที่ตลาดคาดในไตรมาสแรกของปีนี้ ช่วยคลายความกังวลความเสี่ยงการเกิด Technical Recession หลังเศรษฐกิจหดตัวในไตรมาสที่สี่ของปีก่อนหน้า นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth หลังตลาดคลายกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด 

ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง สู่ระดับ 4.34% หลังอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ชะลอตัวลงตามคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงเชื่อว่า เฟดมีโอกาสทยอยลดดอกเบี้ยในปีนี้ได้ราว 2 ครั้ง อย่างไรก็ดี เรามองว่า ในระยะสั้น บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจแกว่งตัวในกรอบ sideways ไปก่อน เนื่องจากผู้เล่นในตลาดอาจรอจับตาการส่งสัญญาณของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด และรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญอื่นๆ อาทิ ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ รวมถึงข้อมูลตลาดแรงงาน ซึ่งหากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ พลิกกลับมาดีกว่าคาด ก็อาจกดดันให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ผันผวนสูงขึ้นได้ โดยเราคงแนะนำให้ผู้เล่นในตลาดเน้นรอจังหวะ Buy on Dip ในช่วงที่บอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับบรรดาสกุลเงินหลัก หลังผู้เล่นในตลาดคลายกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดและคงคาดการณ์ว่าเฟดยังมีโอกาสลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในปีนี้ จากรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ที่ชะลอลงตามคาด ส่วนยอดค้าปลีกล่าสุดก็ออกมาแย่กว่าคาดพอสมควร อีกทั้ง ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็กลับมาเปิดรับความเสี่ยง ลดความน่าสนใจในการถือครองเงินดอลลาร์ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 104.2 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 104.2-104.9 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ การปรับตัวลดลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้หนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย.) ปรับตัวขึ้นสู่โซน 2,390 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายทำกำไรการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำบ้าง และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงคืนที่ผ่านมา
 
สำหรับวันนี้ แม้ว่ารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญอาจมีไม่มากนัก ทว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตา ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด หลังตลาดได้รับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI และยอดค้าปลีกล่าสุด ไปแล้ว ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้นว่า บรรดาเจ้าหน้าที่เฟดจะมีการปรับเปลี่ยนโทนการสื่อสารให้มีความ Hawkish น้อยลงมาหรือไม่ หรือยังคงย้ำจุดยืนไม่รีบลดดอกเบี้ยตามเดิม

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า การแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมา อาจทำให้ เงินบาทเริ่มแกว่งตัว sideways แถวโซน 36.20-36.30 บาทต่อดอลลาร์ได้ (การแข็งค่าของเงินบาทก็เป็นไปตามที่เราประเมินไว้ หลังเงินบาทแข็งค่าหลุดเส้นค่าเฉลี่ย 50 วัน) นอกจากนี้ เรามองว่า บรรดาผู้นำเข้าก็อาจทยอยเข้าซื้อเงินดอลลาร์เพิ่มเติม หลังเงินบาทได้แข็งค่าขึ้นพอสมควรในช่วงนี้ อีกทั้งโฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติก็ยังมีอยู่บ้าง ซึ่งอาจพอช่วยชะลอการแข็งค่าของเงินบาทได้ จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม ทั้งนี้ หากเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องก็อาจยังติดโซนแนวรับหลักถัดไปแถว 36.00 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่ หากเงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงบ้าง เราคาดว่า บรรดาผู้ส่งออกอาจกลับมาทยอยขายเงินดอลลาร์เพิ่มเติม หรือ ผู้เล่นในตลาดที่มีสถานะ Short THB (มองเงินบาทอ่อนค่า) ก็อาจต้องมีการปรับสถานะกันบ้าง ทำให้ เงินบาทก็อาจยังไม่สามารถอ่อนค่าทะลุโซน 36.50 บาทต่อดอลลาร์ ที่กลายมาเป็นโซนแนวต้านสำคัญในช่วงนี้ไปได้ (แนวต้านแรกระยะสั้นจะอยู่แถว 36.35 บาทต่อดอลลาร์)

เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังคงเคลื่อนไหวผันผวนสูง ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.10-36.35 บาท/ดอลลาร์

Copyrights © 2021 All Rights Reserved by Clubhoon.com