คลับหุ้นมีโอกาสสัมภาษณ์ คุณพิศาล รัชกิจประการ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อาม่า มารีน จำกัด (มหาชน) หรือ AMA ในฐานะหัวเรือใหญ่ ที่คุมหางเสือ กำหนดทิศทางและกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ ให้องค์กรเติบใหญ่ไปข้างหน้า
คุณพิศาล บอกว่า ที่ผ่านมา AMA อาจจะ Low profile ไม่ค่อยจะมีข่าว เป็นที่สนใจ หรืออยู่ในสายตาของนักลงทุนมากนัก ทำให้สภาพคล่องการซื้อขายอาจจะไม่มาก และราคาหุ้นไม่ค่อยจะหวือหวา แต่ถ้าพูดถึงในแง่ผลการดำเนินงานเราค่อนข้างดี และเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในครึ่งปีแรก มีกำไรมากถึง 131.41 ล้านบาท เติบโตถึง 85% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไร 70.76 ล้านบาท
คุณพิศาล บอกว่า ถ้าเอ่ยถึงบริษัท อาม่า มารีน นักลงทุนทั่วๆ ไป อาจจะรู้จักเพียงแค่เผินๆ ว่า เป็นผู้ให้บริการขนส่งสินค้าทางเรือ เหมือนหุ้นกลุ่มธุรกิจเดินเรือขนส่งประเภทสินค้าโภคภัณฑ์ หรือ Commodity แต่ทราบหรือไม่ว่าธุรกิจเดินเรือในตลาดหลักทรัพย์ มีหลายประเภท
1.) เรือเทกอง คือ เรือที่ใช้ขนส่งสินค้า สินค้าโภคภัณฑ์จำนวนมาก เช่น แร่, ถ่านหิน, เหล็ก, สินค้าเกษตร
2.) เรือคอนเทนเนอร์ คือ เรือที่ใช้ขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ มักเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และสินค้าอุปโภคบริโภค
3.) เรือขนส่งน้ำมันดิบและปิโตรเคมีเหลว (Oil/Chemical Tankers)
ซึ่ง AMA จัดอยู่ในกลุ่มธุรกิจเรือขนส่งน้ำมันดิบและปิโตรเคมีเหลว และถือเป็นบริษัทชั้นนำที่ให้บริการด้านโลจิสติกส์ในเอเชีย โดยเฉพาะให้บริการขนส่งสินค้าเหลวทางเรือระหว่างประเทศ มีส่วนแบ่งทางการตลาดในการขนส่งน้ำมันปาล์มเป็นอันดับต้นๆ ในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้
คุณพิศาล เล่าว่า AMA ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2539 ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 1 ล้านบาท เพื่อประกอบธุรกิจขนส่งสินค้าเหลวทางทะเลโดยใช้เรือบรรทุกของเหลวในระหว่าง (Oil/Chemical Tankers) ในช่วงแรก ให้บริการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงให้กับผู้ค้าน้ำมันขนาดใหญ่ในประเทศ
ในปี 2542 บริษัทได้ขยายการให้บริการไปสู่การขนส่งผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์ม และน้ำมันพืช ให้กับผู้ผลิตและจำหน่ายในต่างประเทศ หลังจากความต้องการขนส่งน้ำมันทางเรือของลูกค้าในประเทศลดลง เพราะหันไปใช้การขนส่งสินค้าทางรถเป็นหลัก
จนปี 2545 ให้บริการขนส่งผลิตภัณฑ์น้ำมัน ปาล์มและน้ำมันพืชชนิดต่างๆ ทางเรือในต่างประเทศ 100% โดยไม่หันมามองตลาดในประเทศ ซึ่งตอนนั้นขนาดกองเรือยังไม่ใหญ่ เพราะเน้นวิ่งขนส่งในภูมิภาคอาเซียนน้ำมันปาล์มเป็นหลัก เบื้องต้นไปรับสินค้าจากประเทศต้นทาง คือ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ไปส่งที่ประเทศพม่า และเวียดนาม
ต่อมาในปี 2557 AMA เริ่มต้นธุรกิจการให้บริการขนส่งสินค้าเหลวทางบกด้วย ซึ่งดำเนินงานภายใต้ชื่อ บริษัท เอ เอ็ม เอ โลจิสติกส์ จำกัด (AMAL)เนื่องจาก บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) PTG ซึ่งมีผู้ถือหุ้นใหญ่กลุ่มเดียวกัน คือ "รัชกิจประการ" มีแผนผลักดัน AMA เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยที่ PTG จะเน้นเรื่องขายน้ำมัน และธุรกิจนอนออยล์ เป็นหลัก และมีการโอนกิจการบรรทุกน้ำมันให้กับ AMA ทำให้ PTG ถือหุ้นใน AMA สัดส่วน 24%
และเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2559 ได้จดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2559 นำเงินจากการระดมทุนไปขยายกองเรือ ปัจจุบันมีเรือ ขนาด 2,800 - 13,000 DWT รวม 9 ลำ ประกอบด้วย ขนาด 13,000 DWT จำนวน 5 ลำ / 10,000 DWT 1 ลำ / 5,000 DWT 1 ลำ และ ขนาด 3,000 DWT 2 ลำ
ปัจจุบัน บริษัทเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการขนส่งสินค้าทางเรือ อันดับต้นๆ ที่ให้บริการขนส่งผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มและน้ำมันพืชชนิดต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ประเทศ เมียนมา ประเทศเวียดนาม และประเทศฟิลิปปินส์ รวมถึงภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ ประเทศ เกาหลีใต้ จีน บังคลาเทศ และอินเดีย
ส่วนการขนส่งน้ำมันทางรถ จากเริ่มสตาร์ทในปี 2557 ด้วยรถบรรทุกเพียง 5 คัน บรรทุกน้ำมันไปส่งคลังน้ำมันของ PTG ซึ่งมีอยู่ 9 คลัง กระจายอยู่ทั่วประเทศ และทุกๆ ปีก็มีการซื้อรถเพิ่ม ช่วงแรกๆ เฉลี่ย 30-40 คัน บางปีก็ 50 คัน
ปัจจุบัน AMA มีรถบรรทุก 271 คัน และมีการสั่งซื้อรถบรรทุกเพิ่มเข้ามาอีก 30 คัน ซึ่งอยู่ระหว่างการขั้นตอนการจดทะเบียน การตรวจสอบความเรียบร้อย จะเริ่มออกมาวิ่งให้บริการได้ภายในวันที่ 5 ตุลาคม 2566 ทำให้ AMA มีรถบรรทุกทั้งหมดเป็น 304 คัน
แบ่งเป็นรถกึ่งพ่วง (Semi-Trailer) ขนาดบรรทุก 45,000 ลิตร สัดส่วนที่เยอะกว่า 90% และที่เหลือมีรถบรรทุก 10 ล้อ ที่ใช้วิ่งส่งน้ำมันให้กับสถานีบริการของ PTG ด้วย
เริ่มแรกวิ่งไปส่งที่คลังน้ำมันของ PTG ส่วนการกระจายจากคลังน้ำมันไปยังสภานีบริการ PTG จะดำเนินการเอง แต่ตอนนี้ PTG ทำไม่ทัน เพราะมีจำนวนสถานีบริการเกิดขึ้นเยอะมาก AMA จึงต้องหารถ 10 ล้อ ช่วยบรรทุกน้ำมัน วิ่งส่งให้กับสถานีบริการของPTG ด้วย ตอนนี้มีรถ 10 ล้อ จำนวน 30 คัน และวันที่ 5 ตุลาคม ก็เพิ่มมาอีก 10 คัน เป็น 40 คัน
คุณพิศาล บอกว่า ปัจจุบัน AMA ได้ขยายธุรกิจไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอื่น ที่ไม่ใช่การขนส่งน้ำมันเพียงอย่างเดียว โดยเมื่อเดือนตุลาคม ปี 2564 บริษัท เอ เอ็ม เอ โลจิสติกส์ ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ซื้อกิจการ บริษัท ทีเอสเอสเค โลจิสติกส์ จำกัด ในสัดส่วน 76% ซึ่งประกอบธุรกิจขนส่งก๊าซ ขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ เช่น ขนส่งเม็ดพลาสติก และสินค้าปิโตรเคมี ซึ่งมีรถบรรทุกประมาณ 200 คัน และซื้อกิจการในบริษัท ออโต้ โลจิส จำกัด ในสัดส่วน 76% ซึ่งประกอบธุรกิจ ขนส่งรถยนต์ ซึ่งปัจจุบันมีสัญญา กับ CEVA Logistics ในการขนส่งรถยนต์ประกอบสำเร็จจากตรีเพชรอีซูซุเซลส์
หากรวมกิจการของ ทีเอสเอสเค โลจิสติกส์ และออโต้ โลจิส เข้ามาด้วย AMA จะมีรถบรรทุกวิ่งให้บริการกว่า 500 คัน
การเพิ่มธุรกิจด้านขนส่งทางรถ ทำให้รายได้ของ AMA จากอดีตที่มีรายได้จากธุรกิจเดินเรือ 100% เปลี่ยนเป็นธุรกิจเดินเรือ 80% และให้บริการทางรถ 20% กระทั่งปัจจุบันสัดส่วนรายได้มาจากการให้บริการขนส่งทางเรือเหลือประมาณ 60-65%
สำหรับแนวโน้มภาพรวมธุรกิจการให้บริการขนส่งทางเรือ คุณพิศาล บอกว่า ตลาดปีนี้ และปีที่แล้ว ยังถือว่าเป็นช่วงที่ดีของการให้บริการขนส่งทางเรือ โดยเฉพาะธุรกิจให้บริการขนส่งประเภทแทงค์เกอร์
ส่วนภาพรวมการแข่งขัน ในประเทศคงไม่ต้องพูดถึง เพราะ AMA เน้นตลาดต่างประเทศ 100% ซึ่งมีรายงานของบริษัทที่เป็นนายหน้าในการซื้อขายเรือว่า ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า เรือที่มีขนาด 13,000 - 15,000 ตัน จะมีจำนวนลดลง เนื่องจากมีการหยุดการสร้างเรือช่วงหนึ่ง ในขณะที่เรือมีอายุการใช้งานเยอะก็เริ่มปลดระวาง จึงไม่น่ากังวลแต่จุดแข็งสำคัญของ AMA คือ ลูกค้าหลักที่ใช้บริการกันมายาวนาน ตั้งแต่ ปี 2545 หรือกว่า 20 ปี ส่วนการแข่งขันด้านราคา ก็ปกติ เป็นไปตามกลไกตลาด
ซึ่งธุรกิจเดินเรือของ AMA หากพิจารณาด้านอัตราการใช้กำลังการผลิต หรือ Utilization Rate จะอยู่ที่ประมาณ 96.5% ซึ่งก็คือใช้เกือบเต็มประสิทธิภาพ ส่วนที่ขาดหายไปบ้าง ก็อาจจะมีเรือจอดซ่อมบำรุง หรือจอดรอสินค้าบ้างตามปกติ
ส่วนธุรกิจขนส่งทางรถ มีอัตราการทำกำไรค่อยข้างนิ่ง เพราะว่าขนส่งทางรถ สิ่งเดียวที่จะทำกำไรได้เยอะ คือต้องทำ Utilization Rate ให้ได้ อัตราการเกิดอุบัติเหตุน้อย ความผิดพลาดในการขนส่งน้ำมันน้อย ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 80% จะขึ้นไปถึง 90% เหมือนธุรกิจขนส่งสินค้าทางเรือ ค่อนข้างยาก เพราะมีปัจจัยเยอะ มีเรื่องอุบัติเหตุ เรื่องโลซีซั่นช่วงหน้าฝน และบางช่วงก็ที่มีการเปลี่ยนแปลงราคาน้ำมัน
ส่วนภาพรวมธุรกิจในครึ่งปีหลัง คุณพิศาล บอกว่า ปกติช่วงไตรมาส 3 และ 4 ของทุกๆ ปี จะเป็นช่วงไฮซีซั่นของธุรกิจขนส่งทางเรือ เพราะเข้าใกล้หน้าเทศกาล ทำให้มีความต้องการสินค้าเยอะ ขณะที่เป็นช่วงผลิตผลน้ำมันถั่วเหลืองมี ทำให้ปริมาณการขายน้ำมันปาล์มจะเยอะในครึ่งปีหลัง
อย่างไรก็ตาม ถ้าเทียบตัวเลขครึ่งหลังของปี 2566 กับปีครึ่งหลังปี 2565 คงสู้ไม่ได้ เพราะช่วงปลายปี 2565 จีนเพิ่งเปิดประเทศ ทำให้มีการนำเข้าน้ำมันปาล์มปริมาณที่สูงมาก แต่ถ้าเทียบกับปี 2564 หรือย้อนหลังค่าเฉลี่ยกลับไป 7 ปี ครึ่งหลังปี 2566 ดีกว่าค่าเฉลี่ย 7 ปีที่ผ่านมา
สำหรับแผนระยะยาว คุณพิศาล บอกว่า ปัจจุบัน AMA ได้จ้างที่ปรึกษา มีทำแผนกลยุทธ์ 5 ปี โดยเราจะพยายามลดสัดส่วนรายได้ทางเรือ ไปเพิ่มรายได้จากการขนส่งทางรถให้เพิ่มขึ้น โดยพึ่งพา PTG ให้น้อยลง เพราะอยาก Spin-Off แยกบริษัทลูก เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งก็เป็นที่มาของการเข้าซื้อกิจการในบริษัท ทีเอสเอสเค โลจิสติกส์ และออโต้ โลจิส
พร้อมทั้งเดินหน้าธุรกิจขนส่งสินค้าควบคุมอุณหภูมิ Cold Chain Logistics เพราะเห็นว่าในประเทศไทยมีความต้องการ และมีอัตราการเติบโตอย่างมาก ซึ่งบริษัทฯ คาดว่าธุรกิจขนส่งสินค้าแบบควบคุมอุณหภูมิจะสามารถสร้างรายได้ และกำไรให้กับบริษัทฯได้อย่างต่อเนื่องในอนาคต เบื้องต้นซื้อรถขนส่งสินค้าควบคุมอุณหภูมิวิ่งบริการแล้ว 3 คัน
นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างการศึกษาธุรกิจการขนส่งสินค้าทางทางโดรน ซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่ ซึ่งตอนนี้ในประเทศไทยเริ่มทดลองใช้ คือ กรมการแพทย์ มีการทดลองส่งยา ไปให้หน่วยบริการทางการแพทย์ในพื้นที่เข้าถึงลำบาก โดยมีการทดลอลงที่จังหวัดสตูล โดยส่งออกจากอำเภอเมืองจังหวัดสตูลไปที่เกาะที่มีหน่วยให้บริการทางการแพทย์ ซึ่งประสบความสำเร็จด้วยดี AMA ก็สนใจโปรเจ็กต์ คล้ายๆ แบบนี้ โดยกำลังเจรจากับบริษัทกึ่งสตาร์ทอัพ ซึ่งมีบริษัทแม่อยู่ในประเทศอังกฤษ แต่สิ่งที่เป็นอุปสรรคสำหรับธุรกิจนี้ คือ เรื่องการจราจรทางอากาศ การออกใบอนุญาติต่างๆ
คุณพิศาล ยังได้ฝากถึงนักลงทุนด้วยว่า อยากให้นักลงทุนเข้าใจธุรกิจของ AMA เสียใหม่ เพราะปัจจุบัน AMA มีกลยุทธ์การเจริญเติบโตที่มุ่งเน้นการกระจายธุรกิจ โดยกระจายการลงทุนไปในหลายธุรกิจ สร้างความหลากหลายและความแตกต่าง มีทั้งธุรกิจขนส่งทางเรือ ขนส่งทางรถ ขนส่งตู้คอนเทรนเนอร์ ขนส่งรถยนต์ ขนส่งสินค้าควบคุมอุณหภูมิ และเราจะมีอะไรใหม่ๆ เข้ามาอีกพอสมควร
ส่วนเรื่องหุ้น AMA จะถูกหรือแพง คงไม่สามารถบอกได้ แต่หากพิจารณาจากผลการดำเนินงานในอดีตปี 2564 เรามีกำไร 153 ล้านบาท พี/อี 18 เท่า ราคาหุ้นอยู่ที่ประมาณ 4.60 บาท ปี 2565 เรามีกำไร 462 ล้านบาท พี/อี 9 เท่า ราคาก็ยังอยู่ 4.40 บาท ปัจจุบัน ครึ่งปี 2566 ทำกำไรแล้ว 131 ล้าน พี/อี 4 เท่า ราคาหุ้นก็ยังอยู่ราว 4.70 บาท ขณะที่หุ้นขนเดินเรือ ประเภทขนส่งน้ำมันดิบและปิโตรเคมีเหลว คล้ายๆ กับเรา พี/อี สูงถึง 30-35 เท่า ซึ่งตัวเลขที่ออกมา นักลงทุนคงจะพิจารณาได้ไม่ยากว่าหุ้น AMA ถูกหรือแพง
ศึกษารายละเอียด บริษัท อาม่า มารีน จำกัด (มหาชน) เพิ่มเติมได้ที่เวบไซต์ https://www.amamarine.co.th/th/index.php