Economies

ผลประชุม กนง. ล่าสุด คงจุดยืน `ดอกเบี้ย 0.25% ` ด้วยมติ 5 ต่อ 2 เสียง  พร้อมปรับ GDP ปี 67 โต 2.6%
10 เม.ย 2567

นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุมกนง.ในวันที่ 10 เมษายน 2567 ว่า  คณะกรรมการฯ มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.50 ต่อปี โดย 2 เสียง เห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี 

 

เศรษฐกิจไทยในปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่สูงขึ้นจากปีก่อน โดยได้รับแรงสนับสนุนต่อเนื่องจากการบริโภคภาคเอกชนและการท่องเที่ยว รวมทั้งมีแรงส่งจากการใช้จ่ายภาครัฐที่จะกลับมาเพิ่มขึ้นในช่วงที่เหลือของปี ขณะที่ภาคการส่งออกยังมีแรงกดดันจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง บางเช็คเตอร์ถูกกดดัน เช่น ฮาร์ดดิส ไดรฟ์ , เท็กซ์ไทล์ ปิโตรเคมิเคล เป็นต้น  ในช่วงปีหลังคาดการส่งออกจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป  

 

 ด้านอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำจากปัจจัยด้านอุปทานและมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ โดยมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปลายปี 2567 

 

กรรมการส่วนใหญ่เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงิน รวมถึงเห็นว่านโยบายการเงินมีประสิทธิผลจำกัดในการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้ แต่ยังต้องติดตามความไม่แน่นอนของปัจจัยที่จะเข้ามากระทบเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า 

 

ขณะที่กรรมการ 2 ท่าน เห็นว่าควรปรับลดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.25 ต่อปี เพื่อให้สอดคล้องกับศักยภาพเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำลงจากปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ชัดเจนขึ้น และจะมีส่วนช่วยบรรเทาภาระของลูกหนี้ได้บ้าง

 

"เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 ขยายตัวชะลอลงจากการฟื้นตัวของภาคการส่งออกที่ล่าช้า การใช้จ่ายภาครัฐที่ลดลงมาก และแรงกดดันจากสินค้าคงคลังที่อยู่ในระดับสูงกว่าปกติ"

 

สำหรับปี 2567 ปัจจัยลบดังกล่าวจะทยอยลดลง ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่สูงขึ้น อยู่ที่ร้อยละ 2.6 และ 3.0 ในปี 2567 และ2568 ตามลำดับ โดยได้รับแรงสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่ปรับดีขึ้นทั้งในด้านจำนวนนักท่องเที่ยวและค่าใช้จ่ายต่อคน โดยคาดจำนวนนักท่องเที่ยวอยู่ที่ 35.5 ล้านคน และ 39.5 ล้านคน ตามลำดับ และคาดรายได้จะอยู่ที่ 1.4 ล้านล้านบาท เพิ่มสูงขึ้นจากปีก่อนที่ 1 ล้านล้านบาท และปี 68 อยู่ที่ 1.6 ล้านล้านบาท 

 

ด้านการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวต่อเนื่องอยู่ที่ 3.1% และ 3.1% แม้จะชะลอลงจากปีก่อนที่ขยายตัวสูง และการใช้จ่ายภาครัฐที่จะกลับมาเพิ่มขึ้นในช่วงที่เหลือของปี โดยคาดปี 67 ขยายตัว 1.8% และ 3.3% ในปี 68"

 

ทั้งนี้ อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยโดยรวมที่โน้มต่ำลงหลังวิกฤตโควิด สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างที่กดดันศักยภาพเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการส่งออกและการผลิตที่เผชิญความท้าทายจากความสามารถในการแข่งขันที่ปรับลดลงและภาวะสินค้าล้นตลาด ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยได้รับผลดีจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจำกัด

 

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 0.6 และ 1.3 ในปี 2567 และ 2568 ตามลำดับในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มอยู่ที่ร้อยละ 0.6 และ 0.9 ในปี 2567 และ2568 ตามลำดับ ตาม
การปรับลดลงของราคาอาหารสดบางกลุ่มเนื่องจากปริมาณผลผลิตที่เข้าสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก อีกทั้งจากราคากลุ่มพลังงานที่ได้รับการสนับสนุนจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ ซึ่งหากหักผลของมาตรการดังกล่าว อัตราเงินเฟ้อทั่วไปตลอดช่วงที่ผ่านมายังคงเป็นบวก ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะทยอยปรับเพิ่มขึ้นกลับเข้ากรอบเป้าหมายได้ภายในปลายปีนี้ โดยต้องติดตามปัญหาภูมิรัฐศาสตร์และมาตรการภาครัฐที่ส่งผลต่อราคาพลังงาน

 

ภาวะการเงินโดยรวมทรงตัว ต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนผ่านธนาคารพาณิชย์และตลาดตราสารหนี้ใกล้เคียงเดิม สินเชื่อภาคธุรกิจและครัวเรือนขยายตัวชะลอลงจากการชำระคืนหนี้ ขณะที่ปริมาณสินเชื่อปล่อยใหม่ในภาพรวมยังขยายตัว อย่างไรก็ดีธุรกิจขนาดเล็กบางกลุ่มและครัวเรือนรายได้น้อยเผชิญภาวะการเงินที่ตึงตัว เนื่องจากมีปัญหาเชิงโครงสร้างในการเข้าถึงสินเชื่อมาต่อเนื่อง ประกอบกับความสามารถในการชำระหนี้ปรับลดลงจากรายได้ที่ฟื้นตัวช้า ซึ่งสอดคล้องกับยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพที่คาดว่าจะทยอยปรับเพิ่มขึ้นแต่ไม่เร่งตัวแบบก้าวกระโดด นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ มีความกังวลเกี่ยวกับ


หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และเห็นความสำคัญของกระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ต่อรายได้ (debt deleveraging) ที่ควรมีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยลดความเปราะบางของเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว รวมถึงพิจารณาว่านโยบายการเงินมีประสิทธิผลจำกัดในการแก้ปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อ จึงสนับสนุนนโยบายของ ธปท. ในการดำเนินมาตรการเฉพาะจุดผ่านสถาบันการเงิน โดยเฉพาะมาตรการการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending)

 

ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์ สรอ. เคลื่อนไหวผันผวน โดยอ่อนค่านำสกุลเงินภูมิภาค ตามการคาดการณ์ทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯประกอบกับปัจจัยด้านเศรษฐกิจการเงินในประเทศในช่วงที่ผ่านมา คณะกรรมการฯเห็นควรให้ติดตามความผันผวนของค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด

 

ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน กรรมการส่วนใหญ่ประเมินว่าอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันยังสอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อรวมทั้งเอื้อต่อการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังมีความไม่แน่นอนโดยเฉพาะการฟื้นตัวของภาคการส่งออก รวมทั้งผลของการเบิกจ่ายงบประมาณและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการดังกล่าวและพิจารณานโยบายการเงินให้เหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า

 

"เศรษฐกิจไทยยังมีความไม่แน่นอน โดยเฉพาะการฟื้นตัวของภาคการส่งออก ผลของการเบิกจ่ายงบประมาณและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ คณะกรรมการจะติดตามพัฒนาการดังกล่าวและพิจารณานโยบายการเงินให้เหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า  และในครึ่งปีหลัง ยังมีความไม่แน่นอนเยอะโดยเฉพาะการดำเนินนโยบายของประเทศเศรษฐกิจหลัก ซึ่งจะกระทบกับภาวะการเงินของประเทศที่ต้องคำนึงถึง การพิจารณาปรับดอกเบี้ย จะต้องมองไปข้างหน้าด้วยว่าจะเกิดอะไรขึ้น" นายปิติกล่าว

 

ในปีนี้ ตลาดคาดการณ์ กนง.จะลดดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้ง นายปิติกล่าวว่า จากข้อมูลเศรษฐกิจ 2 เดือนแรกของปีนี้ คาดว่าเศรษฐกิจไตรมาสแรก น่าจะโตได้มากกว่าไตรมาส 4/66  ซึ่งถ้าดูเปรียบเทียบรายไตรมาสต่อไตรมาส โตเฉลี่ย 1% ตลอดทั้งปีส่วนไตรมาส 2 ภาคการคลังจะมีการเบิกจ่ายของภาครัฐและการลงทุนเข้ามาได้ในระดับหนึ่ง จะเป็นตัวแปรสำคัญต่อการขยายตัวต่อเนื่อง ด้านการส่งออกต้องติดตาม จะเป็นไปตามคาดหรือไม่  ในแง่ของการตัดสินใจการดำเนินของนโยบายที่สะท้อนปัจจุบัน ยังมีปัจจัยด้านเศรษฐกิจเข้ามากดดัน ประกอบมาตรการภาครัฐ ผลยังไม่ชัดเจน จึงยังต้องติดตามระยะต่อไป

 

สำหรับมาตรการภาครัฐที่ออกมา 2 มาตรการล่าสุด คือ มาตรการภาคอสังหาริมทรัพย์และ มาตรการ Digital Wallet  นายปิติ กล่าวว่า  มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ มีแรงกระตุ้นบ้างแต่ไม่มาก มาตรการ Digital Wallet คาดว่าเริ่มไตรมาส 4  ซึ่งเป็นช่วงปลายปีนี้ ทำให้ผลต่อเศรษฐกิจในปีนี้ไม่เยอะมากแต่จะส่งผลในปีหน้าทั้งนี้ยังต้องติดตาม รายละเอียดที่จะออกมาก่อน

 

ในกรณีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เห็นว่าธปท. ควรลดดอกเบี้ยนโยบายนั้น นายปิติ กล่าวว่า เป็นมุมมองในทิศทางเดียวกับอีกกรรมการ 2  ท่านของกนง. ซึ่งการพิจารณาของกนง. แต่ละท่านจะมีการชั่งน้ำหนักปัจจัยต่ๆทั้งระยะสั้นและระยะยาว จึงไม่ได้มีใครถูกหรือผิด  ซึ่งในภาวะอัตราดอกเบี้ยอยู่ระดับต่ำ ก็จะเพิ่มการสะสมความเปราะบางของเศรษฐกิจในระยะยาว แม้ว่าอีกด้านจะช่วยลดภาระหนี้ในระยะสั้น แต่ส่งผลให้ยอดคงค้างหนี้เพิ่มขึ้นในระยะยาว และยอดคงค้างที่อยู่ในระดับสูง ก็จะส่งผลลบต่อเศรษฐกิจในระยะยาว

 

 

นายปิติ ยังยืนยันว่า มาตรการด้านการเงินและการคลัง ยังคงสอดประสานกัน โดยนโยบายการเงินในปัจจุบัน ยังเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีศักยภาพในระยะยาว  ซึ่งไม่ได้ขัดต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เข้าสู่ระดับศักยภาพของไทย 

 

สำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วง 3-4 ปีไม่ได้สูงมากเมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิดมาจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง ภาคการผลิตที่ประสิทธิภาพไม่สูง ทำให้แข่งขันได้  ภาคการส่งออกแข่งขันได้น้อย และยังมีปัจจัยเรื่องประชากรวัยทำงานที่จะเริ่มลดลง  ส่วนปัจจัยเชิงวัฏจักร  ไม่ได้ฉุดรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ 

 

"การที่ภาคการคลังเข้ามากระตุ้น ก็ยังสอดคล้อง แต่คิดว่า นโยบายการเงิน การคลังแต่ถามว่า ต้องเร่งกระตุ้นเหมือนตอนโควิดมั้ย ก็คงไม่ใช่สถานการณ์แบบนั้น เพราะดูแล้วอัตราการเร่งตัวของเศรษฐกิจไม่ได้น้อย"

 

 

นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายองค์กรสัมพันธ์ และโฆษก ธปท. กล่าวว่า"มาตรการ  Digital Wallet ที่ออกมา  สำหรับ ธปท. ได้แสดงความห่วงใยในหลายประเด็น  คือ แหล่งที่มาของเงินเป็นสิ่งที่กังวล  เพราะในฐานะธปท. จะต้องมั่นใจได้ว่าเม็ดเงินที่ต้องใช้จะต้องมีครบถ้วน เพราะไม่เช่นนั้นจะไม่เป็นไปตามพ.ร.บ.เงินตรา ซึแหล่งเงินตามมาตรา 28 ควรจะต้องผ่านกระบวนการ หลักเกณฑ์ถูกต้อง ครบถ้วนเสถียรภาพ สภาพคล่องที่จะต้องพิจารณา ซึ่งรัฐบอกใช้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)  หากดำเนินการได้ตามปกติ เป็นไปตามพ.ร.บ.เงินตราซึจะต้องดูตามขั้นตอนต่อไป

 

 

เรื่องกลุ่มเป้าหมายผู้ได้รับเงิน  ซึ่งธปท.อยากเห็นแบบเฉพาะกลุ่ม เน้นเรื่องความคุ้มค่าต่อเศรษฐกิจ  โดยไม่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพการคลังในระยะปานกลาง ส่วนเสถียรภาพการคลัง จะมีแนวทางปรับลดภาระหนี้อย่างไร รายได้จากกาาจัดเก็บเป็นอย่างไร  นอกจากนี้

การใช้ดิจิทัลระบบใหม่ที่มีความซับซ้อน   ต้องคำนึงถึงการดูแลข้อมูลส่วนบุคคล ความปลอดภัยจากภัยไซเบอร์ เพราะอาจจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการชำระเงิน 

Copyrights © 2021 All Rights Reserved by Clubhoon.com