สถานการณ์เศรษฐกิจโลก
เศรษฐกิจโลกเผชิญความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มขึ้นจากปัญหาเสถียรภาพระบบการเงินในสหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งทำให้ภาวะการเงินทั่วโลกตึงตัวขึ้นอีก อย่างไรก็ตาม คาดว่าสถานการณ์จะไม่ลุกลามจนทำให้เศรษฐกิจโลกหดตัวรุนแรง (No hard landing) เนื่องจากสถานะเงินทุนของสถาบันการเงินในสหรัฐฯ และยุโรปเข้มแข็งกว่าในอดีต รวมถึงธนาคารกลางมีมาตรการรักษาเสถียรภาพระบบการเงินรองรับ ในด้านกิจกรรมทางเศรษฐกิจของโลกในช่วงปลายไตรมาส 1 พลิกมาขยายตัวครั้งแรกในรอบครึ่งปี โดยมีแรงหนุนจากการฟื้นตัวของภาคบริการ ขณะที่ภาคการผลิตยังหดตัวตามอุปสงค์สินค้า แม้ปัญหาอุปทานคอขวดทยอยคลี่คลาย
อัตราเงินเฟ้อโลก
อัตราเงินเฟ้อโลกมีแนวโน้มปรับลดลงต่อเนื่องตามราคาพลังงาน ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานยังมีแนวโน้มปรับลดลงได้ช้า แต่สถานการณ์ความตึงเครียดในภาคธนาคารส่งผลให้ภาวะการเงินและเงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อตึงตัวขึ้น ธนาคารกลางประเทศหลักจึงมีแนวโน้มไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อตั้งแต่ช่วงกลางปีนี้ โดยคาดว่า Fed มีแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ยอีกเพียง 1 ครั้งในเดือน พ.ค. สู่ระดับ Terminal rate ที่ 5-5.25% และคงไว้ตลอดปี ขณะที่ ECB มีแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในเดือน พ.ค. และ มิ.ย. สู่ระดับ Terminal rate ที่ 3.5% และคงไว้ตลอดปีเช่นกัน
เศรษฐกิจไทยปรับดีขึ้นชัดเจนในหลายองค์ประกอบ
นำโดยภาคการท่องเที่ยว ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2023 นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยแล้วกว่า 6.5 ล้านคน และมีแนวโน้มฟื้นตัวดีต่อเนื่องจากการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน รวมถึงการท่องเที่ยวในประเทศจากความต้องการท่องเที่ยวที่ยังอยู่ในระดับสูงและปัจจัยสนับสนุนจาก โครงการเราเที่ยวด้วยกันเฟส 5 ส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับสูงสุดในรอบกว่า 3 ปี ขณะที่การส่งออกหดตัวเป็นเดือนที่ 5 และแนวโน้มการส่งออกในช่วงครึ่งแรกของปี ยังน่าห่วงจากเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวชะลอลงและปัจจัยฐานสูงเป็นสำคัญ แต่แนวโน้มการส่งออกในครึ่งหลังของปีจะได้รับอานิสงส์มากขึ้นจากการฟื้นตัวของอุปสงค์จีนหลังเปิดประเทศ รวมถึงเศรษฐกิจโลกที่จะผ่านจุดต่ำสุดแล้ว การฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชนมีความชัดเจนมากขึ้นตามความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นจากการผลิตเพื่อป้อนคำสั่งซื้อเก่าและงานคงค้างเดิม
อัตราเงินเฟ้อไทย
อัตราเงินเฟ้อไทยสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะราคาสินค้าหมวดพลังงานที่ชะลอตัวลงมากตามราคาพลังงานโลกและมาตรการอุดหนุนภาครัฐที่ยังมีอยู่ อย่างไรก็ดี เงินเฟ้ออาจกลับมาเร่งตัวอีกครั้งในช่วงท้ายปีหลังจากนโยบายพยุงค่าครองชีพของภาครัฐทยอยลดลงและการส่งผ่านต้นทุนมายังผู้บริโภคมีมากขึ้นในช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัวรวมถึงปัจจัยฐานที่เริ่มทรงตัว สำหรับการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง SCB EIC ประเมินเม็ดเงินหาเสียงในช่วงเลือกตั้งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยเพิ่มเติมอย่างน้อย 0.07% ของ GDP
SCB EIC ประเมินว่า Terminal rate ของอัตราดอกเบี้ยนโยบายไทยล่าสุดมีแนวโน้มอยู่ที่ 2.5%
ในกรณีฐานคาดว่า กนง. จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ 2% ในปีนี้ แต่หากเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง กนง. อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องไปสู่ระดับ 2.5% ได้ในไตรมาส 3 เงินบาทคาดว่าจะกลับมาแข็งค่าที่ 32-33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปี จากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่จะปรับดีขึ้น และทิศทางเงินดอลลาร์สหรัฐที่จะกลับมาอ่อนค่าลง