กระทรวงการคลังเผยนักลงทุนสถาบันและประชาชนสนใจจองซื้อหน่วยลงทุน มั่นใจกองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง ช่วยเพิ่มทางเลือกในการลงทุนของประชาชน ร่วมพัฒนาตลาดทุน
นายธิบดี วัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงการคลังได้สนับสนุนการให้กองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง (กองทุนฯ) ซึ่งปัจจุบัน (ณ วันที่ 10 กันยายน 2567) มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) อยู่ที่ 349,481 ล้านบาท ระดมทุนโดยการเสนอขายหน่วยลงทุนประเภท ก. ให้แก่นักลงทุนทั่วไปจำนวนประมาณ 150,000 ล้านบาท แบ่งเป็นนักลงทุนรายย่อยประมาณ 30,000 - 50,000 ล้านบาท และนักลงทุนสถาบันประมาณ 100,000 - 150,000 ล้านบาท และต่อมาได้มีการให้ข้อมูลแก่นักลงทุน (Roadshow) เมื่อวันที่ 9 - 10 กันยายน 2567 นั้น ผลคือได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี นักลงทุนรายย่อยและนักลงทุนสถาบันให้ความสนใจกับการเสนอขายอย่างคึกคัก สะท้อนถึงความเชื่อมั่นในกองทุนฯ ซึ่งแม้จะไม่ได้มีการรับประกันเงินลงทุนและผลตอบแทน แต่ก็มีกลไกในการคุ้มครองเงินลงทุนและผลตอบแทน และความน่าสนใจของอัตราผลตอบแทนที่กำหนดไว้
เงินที่ระดมทุนได้จะเน้นไปลงทุนในหลักทรัพย์ทั้งแบบเชิงรุก (Active Investment) และเชิงรับ (Passive Investment) ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) โดยจะเน้นการลงทุนในบริษัทที่มีอัตราผลตอบแทนดี มั่นคงในระยะยาว มีความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจ และมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี ซึ่งจะสร้างแรงกระตุ้นการลงทุน และสร้างความเชื่อมั่นของตลาดทุนให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งการระดมทุนในครั้งนี้จะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการลงทุนใน ตลท. ผ่านหน่วยลงทุนประเภท ก. ของกองทุนฯ ที่มีกลไกในการคุ้มครองผลตอบแทน
ทั้งนี้ การดำเนินการเสนอขายหน่วยลงทุนในครั้งนี้ ซึ่งรวมถึงการกำหนดกลไกคุ้มครองเงินลงทุนและผลตอบแทนได้ดำเนินการอย่างถูกต้องและครบถ้วนตามขั้นตอนที่เกี่ยวข้องแล้ว โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีซึ่งได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง และได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. ซึ่งได้แก่ กระทรวงการคลังและนักลงทุนภาครัฐ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว รวมทั้งบริษัทจัดการได้ยื่นแก้ไขโครงการจัดการกองทุนฯ ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แล้ว นอกจากนี้ การกำหนดกลไกการคุ้มครองเงินลงทุนและผลตอบแทน (WaterFall) ยังคงสอดคล้องกับโครงการจัดการกองทุนฯ เดิม
สำหรับนักลงทุนที่ลงทุนในหน่วยลงทุนประเภท ก. จะได้รับผลตอบแทนขั้นต่ำที่ร้อยละ 3 ต่อปี ถึงแม้ว่าจะต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรออมทรัพย์ของกระทรวงการคลังที่ได้เสนอขายไปเมื่อเดือนสิงหาคม 2567 แต่มีโอกาสได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้นตามผลการดำเนินการจริงของกองทุนฯ แต่สูงสุดไม่เกินร้อยละ 9 ต่อปี ในขณะที่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. ได้แก่ กระทรวงการคลังและนักลงทุนภาครัฐมีโอกาสได้รับผลตอบแทนตามผลการดำเนินงานจริงของกองทุนฯ รวมถึงได้รับผลตอบแทนของกองทุนฯ ส่วนที่เกินร้อยละ 9 ต่อปี ทั้งหมดโดยไม่มีเพดานขั้นสูง จึงคาดว่าผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. จะยังคงได้รับผลตอบแทนที่ดีและมีความคุ้มค่าในการลงทุน ซึ่งการจัดสรรผลตอบแทนดังกล่าวถูกออกแบบให้เหมาะสมกับความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนแต่ละกลุ่มได้รับ
ทั้งนี้ นักลงทุนรายย่อยในประเทศสามารถจองซื้อหน่วยลงทุนได้ระหว่างวันที่ 16 - 20 กันยายน 2567 ผ่านบริษัทจัดการและผู้สนับสนุนการขายหน่วยลงทุน รวม 8 ราย ได้แก่ 1) บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงไทย 2) บลจ. เอ็มเอฟซี 3) ธนาคารกรุงเทพ 4) ธนาคารกรุงไทย 5) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา 6) ธนาคารกสิกรไทย
7) ธนาคารไทยพาณิชย์ และ 8) ธนาคารออมสิน และจะได้รับการจัดสรรด้วยวิธี Small Lot First ซึ่งจะทำให้ผู้จองซื้อทุกรายจะมีโอกาสได้รับจัดสรรหน่วยลงทุนเท่ากัน และนักลงทุนสถาบันสามารถจองซื้อหน่วยลงทุนในช่วงวันที่ 25 - 27 กันยายน 2567 โดยมีเป้าหมายให้หน่วยลงทุนประเภท ก. สามารถซื้อขายใน ตลท. ได้ในช่วงต้นเดือนตุลาคมนี้