Interview

เกษมสันต์ สุจิวโรดม `KJL EVERYWHERE อยู่ทุกที่ที่มีไฟฟ้า`
29 ส.ค. 2566

 

ปัจจุบัน ไฟฟ้าเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่มีความจำเป็นต่อการดำเนินชีวิต และการดำเนินธุรกิจในทุกอุตสาหกรรม ซึ่งปริมาณการใช้ไฟฟ้ามีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับการเติบโตของอุตสาหกรรมและธุรกิจต่างๆ ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน โรงงานอุตสาหกรรม อสังหาริมทรัพย์ เทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการใช้ไฟฟ้าได้รับอานิสงส์เติบโตต่อเนื่องตามไปด้วย

 

โดยเฉพาะธุรกิจผลิตและจำหน่ายตู้ไฟ รางเดินสายไฟ อุปกรณ์ที่ใช้เดินสายไฟ จึงเติบโตล้อไปกับปริมาณการใช้ไฟฟ้า และขึ้นอยู่กับการขยายตัวของภาวะอุตสาหกรรมก่อสร้างทั้งภาครัฐและเอกชน และอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ 

 

Clubhoon จึงหาโอกาสสนทนากับ คุณแมน "เกษมสันต์ สุจิวโรดม" ผู้บริหารหนุ่มวัย 30 ปีเศษ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กิจเจริญ เอ็นจิเนียริ่ง อีเลคทริค จำกัด (มหาชน) หรือ KJL ซึ่งเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมการผลิตตู้ไฟ รางไฟ และงานโลหะแผ่นแปรรูป ที่มีกําลังการผลิตสินค้าสูงสุดในประเทศไทย และดำเนินธุรกิจมากว่า 3 ทศวรรษ ด้วยสโลแกน " KJL EVERYWHERE อยู่ทุกที่ที่มีไฟฟ้า "

 

คุณแมน บอกว่า คนทั่วไป และนักลงทุน อาจจะงงๆ ว่าธุรกิจตู้ไฟ รางไฟ คืออะไร แล้วมัน "อยู่ทุกที่ที่มีไฟฟ้า" ยังไง มีความจำเป็นต่อการดำเนินชีวิตยังไง อธิบายให้เห็นภาพคร่าวๆ และเข้าใจง่ายๆ คือ

 

ในทุกที่ที่มีไฟฟ้า จะต้องมีตู้สวิทช์บอร์ด (Switchboard) หรือ ตู้คอนโทรล ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ใช้ในระบบไฟฟ้า และในทุกๆ บ้าน ก็มีความจำเป็นต้องมีอุปกรณ์ตัวนี้ ลองดูครับว่า ตู้สวิทช์บอร์ด ในบ้านท่าน มีสัญลักษณ์ หรือมีตราสินค้าอะไร อาจจะเป็นของ KJL ก็เป็นได้

 

 

ปัจจุบันสินค้าและบริการ ของ KJL แบ่งเป็น 4 กลุ่มประกอบด้วย 1. ตู้ไฟสวิทช์บอร์ด รางเดินสายไฟ ภายใต้เครื่องหมายการค้า KJL, 2.ผลิตและจำหน่าย ตามคำสั่งของลูกค้าหรือ สินค้าสั่งผลิต (Made to Order), 3.ผลิตภัณฑ์ที่บริษัทฯ เป็นผู้ให้บริการประกอบ และจำหน่ายสินค้าอื่นที่เกี่ยวข้องกับระบบไฟฟ้า, 4 ผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนงานโลหะแปรรูปที่บริษัทฯ เป็นผู้ผลิต และจำหน่ายตามคำสั่งผลิตของลูกค้า ด้วยนวกรรมการผลิต จากเทคโนโลยีระดับสูงจากญี่ปุ่น ซึ่งเป็นระบบอัตโนมัติแบบครบวงจร

 

คุณแมน เล่าว่า KJL เริ่มต้นธุรกิจด้วยห้องแถวเล็กๆ ย่านบางบอน เมื่อปี 2513 โดยป๊ะป๋า "การุณย์ สุจิวโรดม" และขยับขยายมาก่อตั้งโรงงานอย่างเป็นทางการ ที่จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อ 10 พฤษภาคม 2539  ซึ่งตนเองเป็นทายาทรุ่นที่ 2 ที่เข้ามารับช่วงต่อบริหารกิจการแทนป๊ะป๋า ที่อายุมากขึ้น

 

คุณแมน บอกว่า เดิมสอบติดคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มีโอกาสจะได้เป็นนายแพทย์หนุ่ม แต่เปลี่ยนใจ ด้วยเพราะคลุกคลีกับธุรกิจของครอบครับมาตั้งแต่เด็ก ช่วยป๊ะป๋า ช่วยหม่าม้า แพ็คของ จัดส่งของ เวลา มีงานทำบุญก็มาช่วยที่บริษัท และเห็นว่าเป็นธุรกิจของที่บ้าน น่าจะเข้ามาสานต่อ สร้างกิจการให้เติบโตขึ้นได้ จึงตัดสินใจสละสิทธิ์ เลือกเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแทน

 

หลังเรียนจบ ก็ไปฝึกงานที่บริษัทอื่นอยู่พักหนึ่ง ก่อนจะกลับมาช่วยงานที่บริษัท แต่ถึงแม้จะเป็นลูกเจ้าของกิจการ ก็ไม่ได้เข้ามาในตำแหน่งใหญ่โตอะไร เริ่มต้นจากทำงานที่ฝ่ายผลิตเรียนรู้งาน ก่อนจะย้ายไปทำในฝ่ายอื่นๆ จนได้เรียนรู้ทุกองคาพยพของกระบวนการผลิต รวมถึงงานด้านบัญชี การตลาด และฝ่ายขาย ซึ่งอาจจะเป็นความตั้งใจของป๊ะป๋า ให้เราได้ศึกษาเรียนรู้ขั้นตอนการทำงานของทุกฝ่าย ก่อนจะปล่อยให้เรามานั่งบริหาร ซึ่งจนถึงตอนนี้ ก็ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านประสบการณ์ในบริษัทมากว่า 10 ปี

 

คุณแมน บอกว่า การเรียนด้านวิศวกรรมไฟฟ้า ช่วยในเรื่องการทำงานได้เยอะพอสมควร โดยเฉพาะในแง่หลักคิด การวิเคราะห์ ทำให้สามารถคิดเป็นระบบ มีหลักการ การตัดสินใจแต่ละอย่างจึงมีที่มาที่ไป ที่สำคัญสามารถโน้มน้าวทีมงาน และผู้ใหญ่ ได้ด้วย

 

และสามารถนำมาเป็นปรัญชาในการทำงาน เพราะการทำธุรกิจ ข้อดีสำคัญสุด คือเรื่องข้อมูล หรือ Data เพราะสามารถช่วยในเรื่องการกำหนดกลยุทธ์ทางธุรกิจได้ ซึ่งผมเรียกว่า Fact หรือกลุ่มของข้อเท็จจริง ที่ยังไม่ได้ถูกจัดการ จัดกลุ่ม หรือถูกตีความ ซึ่งข้อเท็จจริงเหล่านั้นอาจมีความหมายในตัวเอง งานเยอะ คือ เยอะเท่าไหร่ งานเยอะ คือ ยอดขายเท่าไหร่ กำลังผลิตเท่าไหร่ กี่เปอร์เซ็น เพราะตัวเลขมัน ไม่โกหก มันช่วยในการตัดสินใจได้เยอะมาก 

 

ทำให้เรามีหลักคิด มีที่มาที่ไป ว่าเราคำนวณยอดผลิต ยอดขาย มาจากอะไร ตัวแปรมีอะไร แล้วคาดการณ์ออกมา ว่าโตไปกี่เปอร์เซ็นต์ ผมว่า Data ช่วยได้เยอะมาก และยังช่วยโน้มน้าวผู้ใหญ่ให้คล้อยตามได้ด้วย 

 

คุณแมน บอกว่า เป็นคนชอบแก้ปัญหา เป็นคนที่แก้อะไร ก็ต้องแก้ให้ขาด แก้ให้ถึงรากของปัญหา แต่ก็ต้องมองภาพใหญ่ด้วย แล้วก็ เป็นคนชอบ ลองคิด ลองทำ และดูผลตอบรับ และน้อมรับคำวิจารณ์ 

 

"มันก็คือ ความท้าทาย แต่ถามมองในแง่บวก มันก็ คือการพัฒนาปรับปรุงให้ดีขึ้น ทุกอย่างมันมีช่องว่างในการพัฒนา Room Impove ไม่ว่าจะเล็กจะน้อย กล้าที่จะลองอะไรใหม่ๆ "

 

แต่ก็ยอมรับว่าการเป็นคนหนุ่ม อาจจะมีข้อเสียอยู่บ้าง ในเรื่องการตัดสินใจที่รวดเร็วกว่าคนในยุคเก่า แต่ทุกการตัดสินใจ มันถูกขับเคลื่อนด้วยข้อมูล หรือ Data ทำให้โอกาสผิดพลาดน้อยลง

 

อีกอย่างการตัดสินใจเร็ว มันก็ดีสำหรับยุคสมัยนี้ด้วย ตัดสินใจเร็ว ดีกว่าไม่ลงมือทำอะไร หรือตัดสินใจช้าเกิน ก็คือ คิดแล้วลงมือทำ แต่ก็ถามลึกๆ ทุกวันนี้ มันก็ยังไม่ทันใจตัวเองเท่าไหร่ (หัวเราะ) เพราะโลกทุกวันนี้มันไปเร็วมาก 

 

"เดี๋ยวนี้ ไม่ต้องทำการวิจัย หรือรีเสิร์ชตลาด ไม่ต้องทดลอง ไม่ต้องมาประเมินผล มันช้าไปแล้ว เดี๋ยวนี้ คือ ออกของจริงเลย แล้วไปวัดกันที่ของจริง แต่ลงทุนไม่ต้องเยอะ ถ้ามันไม่สำเร็จก็ OK แต่ถ้ามันสำเร็จ มันจะ BIG WIN เหมือนเวลาทำธุรกิจ ล้ม 100 ครั้ง ไม่เป็นไร แต่ถ้าชนะ 1 ครั้งก็ยิ่งใหญ่ไปเลย"

 

 

คุณแมน บอกว่า ในความเป็นคนรุ่นใหม่ การทำจะทำให้คนรุ่นเก่ายอมรับในฝีมือ ไม่ยาก แต่ก็ไม่ง่าย ที่สำคัญ คือ ต้องพิสูจน์ตัวเราเอง ด้วยการลงมือทำจริง แต่มันอาจยากที่การเริ่มต้น ต้องเริ่มจากโปรเจ็กต์เล็กๆ โน้มน้าวผู้ใหญ่ด้วยเรื่องเล็กๆ ไปก่อน สั่งสมประสบการณ์ไปเรื่อยๆ ค่อยๆ ทำ มันก็จะพิสูจน์ตัวเอง ให้ผู้ใหญ่เชื่อใจว่า เราทำได้ แต่มันก็อาจจะล้มเหลวบ้าง ซึ่งนั่นก็ขึ้นกับเราว่า ปรับเปลี่ยนวิธีอย่างไร เพื่อให้มันสำเร็จ 

 

โดยเฉพาะเรื่องโน้มน้าว ที่ผมใช้บ่อยๆ กับผู้ใหญ่ ก็จะใช้ที่ปรึกษา หรือใช้ผู้ใหญ่ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ เข้ามาช่วยโน้มน้าว ซึ่งวิธีก็ช่วยได้ แต่ไม่ใช่ว่าเราคิดมาไม่ดี เราก็คิดมาดีแล้วระดับหนึ่งแล้ว  

 

"สำหรับคนในครอบครัว บางทีคุยกันเองมันยังไม่ถึงแก่น ก็อาจจะไม่คุยต่อแล้ว คือมันจะมีเรื่องความอดทนในการฟังน้อยกว่า แต่พอมีบุคคลที่สาม เข้ามา มันจะเกิดความเกรงใจ ซึ่งหลายๆ บ้านอาจจะเป็น ในวงสนทนา หรือในที่ประชุม เมื่อมีบุคคลที่สามเข้ามา มันจะเกิดความอดทนในการฟังมากขึ้น ซึ่งการอดทนในการฟัง ทำให้เข้าถึงเรื่องราวการสนทนา เข้าถึงแก่นสาร หรือสาระสำคัญของเรื่องที่ต้องการสื่อสาร" นี่ถือเป็นแทคติกอย่างหนึ่ง ที่ได้แชร์ประสบการณ์ให้กับน้องๆ หลายคน ได้นำไปใช้ "

 

เมื่อถูกถามว่า ต้องมานั่งบริหารงานตั้งแต่หลังเรียนจบ คิดว่าได้ใช้ชีวิตในวัยหนุ่มคุ้มหรือยัง คุณแมนบอกว่า มันขึ้นอยู่กับนิยามการเที่ยวเล่นของแต่ละคน ว่าเป็นยังไง ส่วนผมก็ไปเที่ยวกับลูกค้า เดินทาง ก็ถือเป็น Work-life Balance ปีหนึ่งก็ไปเที่ยวกับลูกค้าหลายรอบ ผสมผสานไป ซึ่งก็เป็นประสบการณ์ส่วนตัวที่เกี่ยวข้องกับเรื่องงานได้ 

 

รวมถึงกิจกรรมอดิเรก ตีกอล์ฟ เพื่อพักผ่อน มันก็ผสมผสานเรื่องงาน เรื่องธุรกิจได้ บางทีก็ตีกับลูกค้าบ้าง ซัพพลายเออร์บ้าง อีกอย่างการตีกอล์ฟก็ช่วยได้เยอะ ต้องมองชอร์ตต่อไป อย่าทำพลาด ทำให้เรารู้จักการควบคุมอารมณ์ตัวเอง ทำให้ใจเย็นขึ้น อะไรที่ควบคุมไม่ได้ ก็ปล่อยมัน คิดอะไรแบบ Shot by Shot หรือ  step by step

 

ส่วนเวลาขับรถ ก็ชอบฟังพอดแคสต์ (Podcast)ด้านการลงทุน เพิ่มความรู้ใหม่ๆ เพื่อนำมาปรับใช้ในธุรกิจ โดยเฉพาะเรื่องการสัมภาษณ์ผู้บริหารบริษัท ชอบฟังวิธีคิดของแต่ละคน ทำให้เราได้เห็น behind-the-scene ว่าหลังฉากเขาคิดอะไรอยู่ เขาตัดสินใจเรื่องนี้เพราะอะไร เราไม่ได้ฟังว่าเขาทำอะไร แต่เขาทำเพราะอะไร ทำไมถึงต้องทำ และนำมาปรับใช้กับธุรกิจของเรา

 

เมื่อกลับมาเรื่องผลการบริหารงาน คุณแมนบอกว่า  KJL มีผลประกอบการที่ดีต่อเนื่อง หลังจากเข้าจดทะเบียนในตลาด MAI เมื่อ 22 พฤศจิกายน 2665 เพราะหลังจากระดมทุน ก็นำเงินมาลงทุนซื้อเครื่องจักรขยายกำลังการผลิต ซึ่งก่อนระดมทุน KJL มีกำลังการผลิตสินค้าได้ประมาณ 20 ล้านชิ้น ซึ่งเป้าหมายเราจะเป็น 30 ล้านชิ้นภายในสิ้นปีนี้ 

 

ในไตรมาสแรกของปีนี้ เราสามารถผลิตได้ 22 ล้านชิ้น และในไตรมาส 2  ขยับมาเป็น 25 ล้านชิ้น และคาดว่าจะเป็น 30 ล้านชิ้นภายในสิ้นปีตามแผน เพราะล่าสุด ข้อมูล เดือน กรกฏาคม 2566 เรามีกำลังผลิตขยับขึ้นมาเป็น 27 ล้านชิ้นแล้ว จึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะทำได้ตามเป้าหมาย ตามที่ได้บอกกับผู้ถือหุ้นไว้ ตอนเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น

 

ด้านผลประกอบการครึ่งปีแรก 2566 มีรายได้ 527.12 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.28%จากช่วงเดียวกันปีก่อน และมีกำไร 73.27 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.37%จากช่วงเดียวกันปีก่อน รายได้และกำไรที่เติบโต ก็มาจากการขยายกำลังการผลิต บวกกับยอดขายที่มากขึ้น

 

ผลประกอบการที่เติบโต ทำให้บอร์ดบริษัท อนุมัติจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นในอัตรา 0.15 บาท/หุ้น โดยจะจ่ายเงินให้กับผู้ถือหุ้นในวันที่ 5 ก.ย. 2566 ที่จะถึงนี้ 

 

คุณแมนบอกว่า  ถ้าดูทั้งด้านผลการดำเนินงาน และการจ่ายปันผลแล้ว คาแรกเตอร์ของหุ้น KJL จึงเป็นทั้ง Growth Stock และ Dividend Stock ในตัวเดียวกัน 

 

ส่วนครึ่งปีหลัง คาดว่ายังเติบโตต่อเนื่อง ซึ่งทำให้คาดว่า ทั้งปีน่าจะโต 10-15% ตามที่เคยให้ข้อมูลไว้กับนักลงทุนตั้งแต่ตอนเข้าจดทะเบียนในตลาด Mai และคิดว่าน่าจะทำได้ตามที่บอกไว้

 

 

"ศูนย์นวัตกรรม" จุดเริ่มต้นของเรื่องราวใหม่ๆ ในอนาคต

คุณแมน บอกว่า จุดเด่นของ KJL ก็คือ การทำงานโลหะ แม้จะเป็นตลาดกลุ่มไฟฟ้าก็จริง แต่พื้นฐานการผลิต เป็นงานโลหะ งานเหล็ก ออกแบบ ตัด เจาะ พับ ชิ้นงานโลหะแผ่นได้ตามแบบที่ลูกค้าต้องการ และจุดเด่นสำคัญของ KJL คือ ไม่มีขั้นต่ำ ชิ้นเดียวก็ทำได้ ซึ่งเรามีลักษณะพิเศษเฉพาะ (Unique) ที่ผู้ผลิตแบบนี้มีน้อยมาก ไม่มีโรงงานที่เปิดรับออเดอร์แบบนี้  KJL จึงหยิบตรงนี้มาต่อยอด ซึ่งไม่จำกัดเพาะตู้ไฟ รางไฟ คือ ทำยังไงให้เกิด Value Add โดยที่ไม่ต้องไปแข่งราคา แข่งขันเรื่องการตอบสนองทางคุณค่าแก่ลูกค้าดีกว่า

 

จึงเป็นที่มา การตั้งศูนย์นวัตกรรม (KJL Innovation Campus) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของ KJL ซึ่งตอนนี้ลงเสาเข็มแล้ว คาดว่าจะเปิดใช้ใน 2025 ซึ่งก็เป็นไปตามแผนที่วางไว้ 

 

ศูนย์นวัตกรรม (KJL Innovation Campus) ถือเป็น Blue Ocean หรือธุรกิจที่เน้นการแข่งขันในด้านความต้องการ ส่วนหนึ่งในตลาดเดิม แต่คิดว่าถ้าในตลาดใหม่ถือว่าเป็นทุกๆ สิ่ง (Everyting) เป็นตลาดที่ใหญ่มาก ของอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่เข้ามาเพิ่มเติม มันไปได้ถึงเครื่องมือทางการแพทย์ งานสถาปัตยกกรรม งานเฟอร์นิเจอร์ งานดีไซด์ มันไม่จำกัด และมันน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของอะไรหลายๆ อย่าง ทำไปเรื่อยๆ มันเกิดกระบวนการพัฒนา ผมว่ามันเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวใหม่ๆ ในอนาคต ที่สุดท้ายจะขับเคลื่อนด้วยเรื่องนวตกรรม และเทคโนโลยี

 

และตอนนี้ KJL ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เกี่ยวเนื่องกับงานไฟฟ้า ซึ่งแตกไลน์จากเดิมที่ผลิตเป็นโลหะ และเพิ่งจะเปิดตัวไป คือตู้พลาสติกกันน้ำ “KJL Plas series” 2 รุ่น 20 แบบ มาตรฐานระดับโลก ผลิตจากพลาสติก ABS 100% ด้วยเทคโนโลยีชั้นนำจากประเทศญี่ปุ่น ไม่ลามไฟ ที่สำคัญคือ สั่งด่วนได้เร็ว สั่งเช้าได้บ่าย ตามความถนัดของ KJL ที่คู่แข่งไม่สามารถทำได้ 

 

ส่วนแผนระยะยาว 5 ปี คุณแมน บอกว่า  KJL มีเป้าหมายจะเติบโตเฉลี่ยปีละ 10-15% และคิดว่าเป็นเป้าหมายที่มั่นใจว่าจะทำได้ และคิดว่าจะมีรายได้โตในระดับ 2,000 ล้านบาท 

 

และยังมีแผนจะย้ายหุ้นจากกระดาน MAI ไปเข้า SET ใน 5 ปี ซึ่งเงื่อนไขหลักต้องมีทุนจดทะเบียน 300 ล้าน ปัจจุบันเรามีทุนจดทะเบียน 116 ล้านบาท ซึ่งพูดตอนนี้มันอาจจะเร็วไป เพราะเพิ่งจากผ่านมาได้แค่ 8-9 เดือนหลังจากเข้าจดทะเบียน รออีก 5 ปีจะพิสูจน์ให้เห็นก็แล้วกัน แต่ 8-9 เดือนที่ผ่านมา ก็พอจะพิสูจน์ให้เห็นได้ระดับหนึ่ง ว่าเราเป็นยังไง

 

เมื่อถามถึงความฝันของคุณแมน ที่อยากเห็น KJL ในอนาคต  คุณแมนบอกว่า อยากให้ KJL เป็นบริษัทที่ทำงานที่ดี มีสินค้าที่มีคุณภาพ ทำสิ่งที่ตอบโจทย์ลูกค้า ที่สำคัญมีบริบท เรื่อง Better Together คือ "การเติบโตไปด้วยกัน" ของทุกคนที่เกี่ยวข้อง ทั้งซัพพลายเออร์ พาร์ทเนอร์ ผู้ถือหุ้น ซึ่งผมว่ามันยั่งยืนกว่า และดีสำหรับทุกคน

 

และนี่คือ ทั้งหมดของบทสนทนาแบบแมนๆ กับชายที่ชื่อแมน "เกษมสันต์ สุจิวโรดม"  ผู้บริหารรุ่นใหม่ของ KJL ด้วยสโลแกน " KJL EVERYWHERE อยู่ทุกที่ที่มีไฟฟ้า "

Copyrights © 2021 All Rights Reserved by Clubhoon.com