Insurance

คปภ. ผนึก ธุรกิจประกัน ร่วมมือแชร์ข้อมูลตัวแทน-นายหน้า พร้อมจีดเกรด `น้ำดี-ฉ้อฉล` เริ่ม พ.ค. นี้
17 เม.ย 2567

คปภ. จัดทำ"โครงการพัฒนาระบบแบ่งปันฐานข้อมูลเกี่ยวกับการฉ้อฉลประกันภัยฯ" เป็นด่านคัดกรองคุณภาพตัวแทน-นายหน้า แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ระดับฉ้อฉลร้านแรงจนถึงน้ำดี "แดง-ส้ม-เหลือง-เขียว“  คาดเริ่มให้บริษัทประกันใช้บริการ พ.ค. 67 

 

เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2567  สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)  นำโดย นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการ คปภ. และนายสาระ ล่ำซำ นายกสมาคมประกันชีวิต ดร.สมพร สืบถวิลกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัย ได้ร่วมงานเปิดตัว "โครงการพัฒนาระบบแบ่งปันฐานข้อมูลเกี่ยวกับการฉ้อฉลประกันภัย หรืออาจจะฉ้อฉลประกันภัยกับภาคธุรกิจ ภายใต้กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล" เพื่อให้บริษัทประกันภัยใช้ในการตรวจสอบ  คัดกรองประวัติที่เกี่ยวข้องพฤติกรรมของตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัย ก่อนที่จะมีการพิจารณารับตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัย มาทำหน้าที่เป็นคนกลางประกันภัยให้กับบริษัทประกันภัย

 

นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า สำนักงาน คปภ. มีภารกิจและหน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งคือการกำกับดูแลตัวแทนและนายหน้าประกันภัย  ซึ่งที่ผ่านมา พบปัญหาการกระทำผิดหลักๆได้แก่  1 กรณีเก็บเงินแล้วไม่นำส่งบริษัทประกันภัย จากเดิมโทษเพิกถอนใบอนุญาตโดยศาลปกครอง  ปัจจุบันได้เพิ่มโทษเป็นคดีอาญาในข้อหาฉ้อฉลประกันภัย 2. กรณีไม่แจ้งรายละเอียดหรือบิดเบือนทำให้เกิดความเข้าใจผิดในความคุ้มครอง ข้อยกเว้นของกรมธรรม์ประกันภัย และ 3. การแนะนำให้ยกเลิกกรมธรรม์เดิม เพื่อให้ทำกรมธรรม์ใหม่ และสร้างความความเสียหายกับผู้เอาประกันภัย   ทางสำนักงาน คปภ. พิจารณาวัตถุประสงค์ของกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิตและกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัย รวมทั้งมาตรฐานการกำกับดูแลไอซีทีในส่วนที่เกี่ยวกับการฉ้อฉลประกันภัยแล้ว  เห็นว่าควรดำเนินการจัดโครงการพัฒนาระบบแบ่งปันฐานข้อมูลเกี่ยวกับการฉ้อฉลประกันภัย หรืออาจจะฉ้อฉลประกันภัยกับภาคธุรกิจ ภายใต้กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการทำให้คนที่เข้ามาในระบบทั้งตัวแทนและนายหน้าฯ ได้รับความน่าเชื่อถือเชื่อมั่นจากประชาชน 

 

โดยสำนักงาน คปภ. จะนำข้อมูลตัวแทนและะนายหน้าประกันภัยที่ได้จากบริษัทประกันภัย รวมทั้งข้อมูลของสำนักงาน คปภ. ที่มีในระบบมาประมวลผล และจัดกลุ่มพฤติกรรมตามระดับความร้ายแรงในการกระทำผิดมี  4 กลุ่มคือ

 

กลุ่มสีแดง (อยู่ระหว่างถูกสั่งพักใช้ หรือ เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาตครั้งล่าสุด ไม่เกิน 5 ปี) 

 

กลุ่มสีส้ม (ตัวแทนที่เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาตครั้งล่าสุดเกิน 5 ปีเต็ม หรือบุคคลมีพฤติกรรมฉ้อฉลประกันภัย)  จัดเป็นกลุ่มที่ต้องระมัดระวังและถูกจับตาอย่างใกล้ชิดเพราะเมื่อครบ  5 ปี มีสิทธิกลับมาเป็นตัวแทนขายประกันได้อีก  โดยบริษัทประกันภัยที่มีตัวแทนและนายหน้าฯในกลุ่มสีส้ม จะต้องบริหารความเสี่ยงคนกลุ่มนี้  เช่น อบรมเรื่องจริยธรรม บริษัทประกันตรวจสอบกลับไปที่ตัวลูกค้า เพื่อให้เกิดความรอบคอบและความปลอดภัยและให้ผู้เอาประกันได้รับบริการที่ดี

 

กลุ่มสีเหลือง  เป็นบุคคลที่มีพฤติกรรมอาจจะฉ้อฉลประกันภัย คือ มีหลักฐานและกำลังอยู่ระหว่างการสอบสวน  ซึางคนที่อยู่กลุ่มหากสอบสวนจบอาจจะกลับมาเป็นกลุ่มสีเขียวหรือตกกกลุ่มลงไปก็ได้

 

กลุ่มสีเขียว เป็นกรณีปกติ บุคคลไม่มีประวัติด่างพร้อย ไม่เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาตไม่พบประวัติที่บริษัทรายงานเข้ามาว่ามีพฤติกรรมฉ้อฉลประกันภัย หรืออาจจะฉ้อฉลประกันภัย ซึ่งปัจจุบันมีตัวแทนและนายหน้าอยู่ในกลุ่มนี้ถึง 99%ของทั้งระบบ

 

ส่วนคนที่มีปัญหา จะมีสัดส่วนน้อยมาก ๆ การจัดทำโครงการนี้ จะแบ่งกลุ่มสีระบุว่าตัวแทนหรือนายหน้าฯเป็นอย่างไร และจะแบ่งปันข้อมูลให้กับบริษัทประกันภัยที่รับสมัครตัวแทนและนายหน้าฯ เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นกับประชาชน และไม่ทำลายภาพลักษณ์ และความน่าเชื่อถือของระบบประกันภัย เพราะตัวแทนและนายหน้าถือเป็นด่านแรกในการจะเสนอขายประกันแก่ลูกค้า

 

นายอดิศร พิพัฒน์วรพงศ์ รองเลขาธิการ ด้านกฎหมาย คดี และคุ้มครองสิทธิประโยชน์สำนักงาน คปภ. กล่าวว่า โครงการแบ่งปันข้อมูลฯ เฟสแรก จะเริ่มดำเนินการในเดือนพ.ค. 2567 เป็นต้นไป  ซึ่งบริษัทประกันภัยสามารถใช้ข้อมูลดังกล่าวได้ ซึ่งจะจำแนกกลุ่มสีของตัวแทนและนายหน้าโดยข้อมูลจะเห็นแบบเรียลไทม์ ส่วนเฟสต่อๆไป อาจจะเปิดให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ประกอบการตัดสินใจซื้อประกัน

 

นายสาระ ล่ำซำ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย กล่าวว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่ดีมาก เพราะพื้นฐานของประกันภัยอยู่บนความเชื่อมั่นเชื่อใจของลูกค้าเป็นสำคัญ  เพราะแม้บริษัทประกันจะอยู่มายาวนาน ก็ยังเจอปัญหาของตัวแทนฯที่ทำไม่ถูกต้องอยู่ และเวลามีประเด็นปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้น ก็จะกระทบความเชื่อมั่นทั้งอุตสาหกรรม

 

นายสมพร สืบถวิลกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า โครงการนี้เปรียบเสมือน คปภ. ตั้งเครื่องเอ็กซเรย์ให้ภาคธุรกิจประกันภัย เพื่อทำให้เกิดความโปร่งใสชัดเจน ในอุตสาหกรรมประกันภัย  และการเริ่มต้นปัดฝุ่นทำความสะอาดบ้าน เพราะตัวแทนนายหน้าเปรียบเสมือนคนในบ้าน ซึ่งหากคนในบ้านทั้งหมดถูกคัดกรองและมีพฤติกรรมที่เหมาะสม จะดูแลผู้เอาประกันได้ดี และเสนอว่า ข้อมูลดังกล่าวควรขยายให้แชร์ไปกลุ่มประชาชนด้วย เพื่อให้ตัวแทนและนายหน้าประกัน พร้อมโชว์ว่าตนเองเป็นกลุ่มสีเขียว จะยิ่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ซื้อประกัน เพราะธุรกิจประกันยึดหลักสุจริตเป็นสำคัญ

Copyrights © 2021 All Rights Reserved by Clubhoon.com