ส.ประกันวินาศภัยไทย เผยไตรมาสแรก ธุรกิจประกันวินาศภัย โตแรง 3.81% แซง GDP. มองครึ่งปีหลังมีความเสี่ยงกดดันเศรษฐกิจ คาดเบี้ยปประกันภัยโต อัตรา 1.5% ถึง 2.5% พร้อมกางแผนยุทธศาสตร์ประกันประเภทต่างๆรับโลกดิจิทัล
ดร.สมพร สืบถวิลกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวถึงแนวโน้มธุรกิจประกันวินาศภัยในปีนี้ ว่า หลังจากไตรมาสแรก ที่ผ่านมา ภาพรวมเศรษฐกิจไทยเติบโต 3.1% ขณะที่ภาพรวมธุรกิจประกันวินาศภัยในไตรมาสแรกของปี 2568 (มกราคม–มีนาคม) มีมูลค่าเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวมทั้งสิ้น 75,269 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโต 3.81% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยมีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงในแต่ละประเภท ดังนี้ ประกันภัยรถยนต์ มีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรง จำนวน 42,004 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.36% ประกันอัคคีภัย มีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรง จำนวน 2,509 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.83% ประกันภัยทางทะเลและขนส่ง มีเบี้ยประกันภัยรับจำนวน 1,668 ล้านบาท ลดลง 4.91% ประกันภัยเบ็ดเตล็ด มีเบี้ยประกันภัยรับจำนวน 29,088 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.01% ซึ่งแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคธุรกิจประกันวินาศภัยไทย โดยเฉพาะในกลุ่มประกันภัยเบ็ดเตล็ดและประกันอัคคีภัยที่มีอัตราการเติบโตโดดเด่น สะท้อนความต้องการความคุ้มครองที่เพิ่มขึ้นในบางกลุ่มความเสี่ยง แม้ประกันภัยทางทะเลและขนส่งจะมีการหดตัวเล็กน้อย สะท้อนถึงภาวะชะลอตัวในบางภาคส่วนของการค้าระหว่างประเทศ แต่ภาพรวมของธุรกิจยังคงเติบโตในทิศทางบวก และชี้ให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของตลาดโดยรวม หากแนวโน้มนี้ยังคงดำเนินต่อไปในไตรมาสถัด ๆ ไป ก็มีแนวโน้มสูงที่อุตสาหกรรมประกันวินาศภัยในปี 2568 จะสามารถเติบโตได้ใกล้เคียงกับระดับที่คาดการณ์ไว้ทั้งปี ทั้งนี้จากข้อมูลเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงในช่วงไตรมาสแรกของปี 2568 (มกราคม–มีนาคม) ซึ่งมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 75,269 ล้านบาท มีสัดส่วนเบี้ยประกันภัย แบ่งเป็น ประกันภัยรถยนต์ (Motor Insurance) คิดเป็นสัดส่วน55.8% ของเบี้ยประกันภัยรวม หรือ 42,004 ล้านบาท ประกันภัยที่ไม่ใช่รถยนต์ (Non-Motor Insurance) คิดเป็นสัดส่วน 44.2% หรือ 33,265 ล้านบาท สะท้อนถึงการตื่นตัวในด้านการบริหารความเสี่ยงของภาคธุรกิจและประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะในหมวดหมู่ประกันอัคคีภัย ประกันภัยเบ็ดเตล็ด และประกันภัยสุขภาพ
สำหรับแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจประกันวินาศภัย ปี 2568 ทั้งปี จากการวิเคราะห์ภาพรวมของธุรกิจประกันวินาศภัย โดยบริษัท ไทยอินชัวรันส์ รีเสิร์ช แอนด์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (Thai Insurance Research & Development Co., Ltd. – TIRD) คาดว่าธุรกิจประกันวินาศภัยจะเติบโตในอัตรา 1.5% ถึง 2.5% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยมีมูลค่าเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวมอยู่ในช่วงประมาณ 291,000 – 294,000 ล้านบาท การเติบโตดังกล่าวสะท้อนถึงความท้าทายในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ รวมถึงการปรับตัวของภาคธุรกิจประกันภัยต่อสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งในด้านความเสี่ยงใหม่ เทคโนโลยี และพฤติกรรมผู้บริโภค ทั้งนี้ธุรกิจประกันวินาศภัยยังแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการปรับตัว การดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ และมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจในระยะยาว การติดตามข้อมูลเชิงลึกอย่างต่อเนื่องควบคู่กับการวางกลยุทธ์ที่สอดคล้องกับบริบทใหม่ จะเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจประกันวินาศภัยให้เติบโตอย่างมั่นคงในปี 2568 และในอนาคตต่อไป
พร้อมกันนี้ คณะกรรมการประกันภัยสาขาต่าง ๆ ได้ร่วมแถลงแผนการดำเนินงานที่สำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจประกันวินาศภัย ดังนี้
นายฮากีม เบ็ญราฮีม ประธานคณะกรรมการประกันภัยทรัพย์สิน กล่าวถึง มาตรการดำเนินการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน กรณีแผ่นดินไหวว่า ตามที่ได้เกิดเหตุแผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ซึ่งสร้างความเสียหายต่ออาคาร บ้านเรือน และทรัพย์สินของประชาชนในหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทย สมาคมฯ ได้มีการออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้การประเมินและการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันภัยให้เป็นไปด้วยความสะดวกและรวดเร็ว รวมทั้งเร่งบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้เอาประกันภัย ประกอบด้วย การจัดทำข้อมูลต่าง ๆ เพื่อช่วยให้บริษัทประกันวินาศภัย สามารถดำเนินการพิจารณาและตรวจสอบข้อมูลการเอาประกันภัยได้ครบถ้วน และช่วยให้การดำเนินการชดใช้ค่าสินค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันภัย สะดวกและครบถ้วนถูกต้อง อาทิ การจัดทำฐานข้อมูลอาคารชุด สำหรับบริษัทประกันภัยในการตรวจสอบข้อมูลอาคารชุดในประเทศไทย และการทำประกันภัยอาคารชุด
ทั้งนี้ เพื่อลดขั้นตอนในการตรวจสอบข้อมูลระหว่างบริษัทประกันภัยด้วยกัน เนื่องจากอาคารชุดส่วนใหญ่มีการเอาประกันภัยทั้งในส่วนของนิติบุคคล และเจ้าของห้องชุด ดังนั้นหากบริษัทประกันภัยที่รับประกันภัยนิติบุคคล ใช้บริการผู้ประเมินวินาศภัยรายใด ผู้รับประกันภัยเจ้าของห้องชุด สามารถเลือกใช้ผู้ประเมินวินาศภัยรายเดียวกันได้
และเนื่องจากอาคารชุดที่มีการเอาประกันภัยทั้งนิติบุคคลและห้องชุด ตามหลักการประกันภัย บริษัทที่รับประกันภัยจะต้องมีการเฉลี่ยความเสียหายตามสัดส่วนที่รับประกันภัยไว้ ดังนั้น เพื่อไม่ให้ผู้เอาประกันภัยได้รับผลกระทบและเพื่อเป็นการเร่งบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้น บริษัทประกันวินาศภัยจึงได้มีการร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงในการกำหนดแนวทางสำหรับการตรวจสอบและดำเนินการจ่ายค่าสินไหมทดแทน กรณีที่ผู้เอาประกันภัยมีกรมธรรม์ประกันภัยที่คุ้มครองทรัพย์สินเดียวกันมากกว่า 1 ฉบับ
พร้อมกันนี้ ได้จัดทำข้อมูลการประเมินราคา พร้อมราคาค่าซ่อมแซมทั่วไป เพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานเพื่อเปรียบเทียบในการทำประเมินค่าสินไหมทดแทนสำหรับห้องชุด อาคารที่พักอยู่อาศัย เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้เอาประกันภัยว่าจะได้รับการชดเชยตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง
นอกจากนี้ สมาคมประกันวินาศภัยไทย และสมาคมธนาคารไทย ได้ร่วมกันกำหนดมาตรการการช่วยเหลือลูกค้าสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่มีประกันภัย สำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แผ่นดินไหว เพื่อให้ผู้เอาประกันภัยสามารถรับค่าสินไหมทดแทนได้โดยตรง สำหรับการนำไปปรับปรุงซ่อมแซมอาคารที่อยู่อาศัย โดยมีธนาคารหลายแห่งได้ให้ความร่วมมือในการอนุญาตให้บริษัทประกันวินาศภัยสามารถจ่ายค่าสินไหมทดแทนตรงไปยังผู้เอาประกันภัย หรือบางกรณีอาจจะมีการตรวจสอบสิทธิและสถานะของลูกค้าสินเชื่อเป็นรายกรณีที่จะจ่ายค่าสินไหมทดแทนต่อไป
จากสถานการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ภาคธุรกิจประกันวินาศภัยได้ตระหนักถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และเห็นความสำคัญของการเตรียมความพร้อมอย่างเป็นระบบ เพื่อรองรับเหตุการณ์ภัยพิบัติที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ เพื่อเป็นการเสริมสร้างศักยภาพในการบริหารความเสี่ยงอย่างยั่งยืน และคงไว้ซึ่งบทบาทของธุรกิจประกันภัยในฐานะกลไกสำคัญของประเทศในการบริหารความเสี่ยง ภาคธุรกิจประกันวินาศภัยจึงได้มีการร่วมหารือเพื่อกำหนดแนวทางการรับประกันภัยแผ่นดินไหวในอนาคต โดยคำนึงถึงความเหมาะสมของอัตราเบี้ยประกันภัย ตลอดจนความสามารถในการรองรับความเสี่ยงของบริษัทประกันภัย
แนวทางดังกล่าวจะครอบคลุมถึงการจัดการความเสี่ยงผ่านการประกันภัยต่อ (Reinsurance) ซึ่งจะช่วยกระจายความเสี่ยงและเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับภัยพิบัติขนาดใหญ่ อันจะส่งผลให้ธุรกิจประกันภัยสามารถดำเนินการรับประกันภัยแผ่นดินไหวได้อย่างมีประสิทธิภาพและมั่นคงในระยะยาวต่อไป
นายเสรี กวินรัชตโรจน์ ประธานคณะกรรมการประกันภัยยานยนต์ กล่าวถึงการดำเนินการในการปรับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ว่า คณะกรรมการประกันภัยยานยนต์ ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ดำเนินการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการปรับอัตราเบี้ยประกันภัยและความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2568 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับความคุ้มครองแก่ผู้ประสบภัยจากรถที่ประสบภัยจากอุบัติเหตุครั้งใหญ่ และ/หรือ อุบัติเหตุรายใหญ่ ที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวรมากกว่า 20 รายในอุบัติเหตุนั้น ๆ
จากการหารือร่วมกัน ได้มีมติเห็นชอบในการปรับเพิ่มจำนวนเงินคุ้มครองการเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิงสูงสุดต่อครั้ง เพื่อให้ผู้ประสบภัยจากรถมีโอกาสได้รับค่าสินไหมทดแทนเต็มตามจำนวนเงินความคุ้มครองสูงสุด 500,000 บาทต่อคน ตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
1. การประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ (พ.ร.บ.) ได้มีการปรับจำนวนเงินความคุ้มครองในกรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง จากเดิมที่กำหนดไว้ไม่เกิน 5 ล้านบาทต่ออุบัติเหตุแต่ละครั้ง สำหรับรถยนต์ที่มีที่นั่งไม่เกิน 7 คน หรือรถบรรทุกผู้โดยสารรวมทั้งผู้ขับขี่ไม่เกิน 7 คน และไม่เกิน 10 ล้านบาทต่ออุบัติเหตุแต่ละครั้ง สำหรับรถยนต์ที่มีที่นั่งเกิน 7 คน หรือรถบรรทุกผู้โดยสารรวมทั้งผู้ขับขี่เกิน 7 คน โดยได้มีการ ยกเลิกจำนวนเงินความคุ้มครองตามเกณฑ์เดิมดังกล่าว และปรับเพิ่มจำนวนเงินความคุ้มครองในกรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิงสูงสุดต่อครั้งเป็นจำนวน 20 ล้านบาท โดยครอบคลุมรถยนต์ทุกประเภท
ทั้งนี้ การปรับความคุ้มครองดังกล่าวจะ ไม่มีการปรับเบี้ยประกันภัยเพิ่มแต่อย่างใด โดยขอให้มีผลบังคับใช้ทันทีกับทุกกรมธรรม์ประกันภัย ทั้งกรมธรรม์ประกันภัยที่ยังมีระยะเวลาคุ้มครองเหลืออยู่ และกรมธรรม์ที่ทำสัญญาใหม่กับบริษัทประกันภัย
2. การประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ ปรับเพิ่มจำนวนเงินความคุ้มครองความรับผิดต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัยของบุคคลภายนอก (Third Party Bodily Injury: TPBI) จากเดิมจำนวนเงินขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาทต่อหนึ่งครั้ง เป็นไม่น้อยกว่า 20 ล้านบาทต่อหนึ่งครั้ง
ทั้งนี้ ผู้เอาประกันภัยสามารถเลือกซื้อความคุ้มครอง TPBI ได้ในระดับที่สูงขึ้นตามความต้องการ โดยเลือกซื้อความคุ้มครองขั้นต่ำที่ 20 ล้านบาทต่อครั้ง หรือสูงสุดได้ถึง ไม่จำกัดจำนวน (Unlimited) โดยการปรับเพิ่มความคุ้มครองดังกล่าว จะขอให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2569 เป็นต้นไป สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจที่มีการทำสัญญาใหม่กับบริษัทประกันภัย
การปรับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ในครั้งนี้ สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของสำนักงาน คปภ. และภาคธุรกิจประกันวินาศภัยในการพัฒนาและยกระดับการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถให้มีความเหมาะสมและเพียงพอกับสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้น ซึ่งคาดว่าสำนักงาน คปภ. จะออกประกาศให้มีผลบังคับใช้ในเร็ว ๆ นี้
สำหรับการดำเนินการเรื่อง การออกกรมธรรม์ประกันภัยในรูปแบบ e-Policy คณะกรรมการประกันภัยยานยนต์ ได้มีการประชุมหารือร่วมกับสำนักงาน คปภ. เกี่ยวกับการดำเนินการส่งเสริมให้มีการออกกรมธรรม์ประกันภัยในรูปแบบ e-Policy เพื่อให้เจ้าของรถสามารถจัดทำประกันภัยรถภาคบังคับได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และสามารถตรวจสอบข้อมูลการทำประกันภัยของตนเองได้ตลอดระยะเวลาคุ้มครอง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เอาประกันภัยในการเข้าถึงและตรวจสอบข้อมูลกรมธรรม์ได้อย่างรวดเร็ว และยังเป็นทางเลือกสำหรับผู้เอาประกันภัยที่ไม่ประสงค์รับกรมธรรม์ในรูปแบบกระดาษ
นายปิยะพัฒน์ วนอุกฤษฏ์ ประธานคณะกรรมการประกันภัยอุบัติเหตุและสุขภาพ กล่าวถึงความคืบหน้าเรื่อง การจัดกลุ่มโรงพยาบาลเครือข่ายประกันวินาศภัยว่า สมาคมประกันวินาศภัยไทย ได้ทำการศึกษาแนวทางการจัดกลุ่มโรงพยาบาลเครือข่ายประกันวินาศภัยซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลเอกชน โดยพิจารณาจัดกลุ่มโรงพยาบาลจากค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลออกเป็นหลายกลุ่ม โดยในการวิเคราะห์ข้อมูลดังกล่าวใช้ข้อมูลการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนประกันภัยสุขภาพ ปี 2023 ซึ่งคิดเป็น 51% ของการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนประกันภัยสุขภาพของฝั่งประกันวินาศภัย (Non-Life) และใช้ข้อมูลที่เป็นเฉพาะกรณีผู้ป่วยใน (IPD) ของ 15 โรค 9 หัตถการ ที่พบบ่อยและมีวิธีการรักษาที่ไม่หลากหลายและซับซ้อน ซึ่งคิดเป็น 70% ของค่ารักษาของผู้ป่วยใน (IPD) โดยสรุปผลการศึกษาการจัดกลุ่มโรงพยาบาลเครือข่ายประกันวินาศภัย ได้ดังนี้
1) ผลการวิเคราะห์ การแบ่งกลุ่มโรงพยาบาลเอกชน
จากการวิเคราะห์ข้อมูล กรณีแบ่งกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนเป็น 3 กลุ่ม คือ High Medium และ Low พบว่า โรงพยาบาลในกลุ่ม High มีค่ารักษาสูงกว่าโรงพยาบาลกลุ่ม Medium อยู่ 1.5 เท่า และโรงพยาบาลในกลุ่ม Medium ค่ารักษาพยาบาลสูงกว่าโรงพยาบาลกลุ่ม Low 2.2 เท่า และหากในกรณีแบ่งกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนเป็น 2 กลุ่ม คือ High และ Non High พบว่า โรงพยาบาลในกลุ่ม High มีค่ารักษาพยาบาลสูงกว่ากลุ่ม Non High อยู่ 1.51 เท่า
2) ผลการวิเคราะห์กลุ่มโรงพยาบาลรัฐ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข
จากการวิเคราะห์ข้อมูล โดยใช้ข้อมูลค่ารักษาพยาบาลจากโปรแกรม Thai DRG จาก กรมบัญชีกลาง ซึ่งเป็นค่ารักษาพยาบาล ที่ไม่รวม Administration Expense และเงินเดือน พบว่าค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนในกลุ่ม Medium สูงกว่าราคากรมบัญชีกลาง โดยเฉลี่ย 6.1 เท่า และเพื่อให้สอดคล้องกับการจัดกลุ่มโรงพยาบาลเครือข่ายของบริษัทประกันวินาศภัยดังกล่าวคณะกรรมการฯ ได้ยื่นขอรับความเห็นชอบในรูปแบบของความคุ้มครองสำหรับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลที่กำหนด เพื่อให้บริษัทประกันภัยนำผลการศึกษาการจัดกลุ่มโรงพยาบาลไปจัดทำอัตราเบี้ยประกันภัยให้เหมาะสมของแต่ละกลุ่มต่อไป
ดังนั้น การจัดกลุ่มโรงพยาบาลเครือข่ายประกันวินาศภัย ก่อให้เกิดประโยชน์ในหลายมิติ ได้แก่ ผู้เอาประกันภัยสามารถเลือกซื้อประกันสุขภาพที่สอดคล้องกับรายได้และความต้องการของตนเองได้ ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบการประกันภัยสุขภาพเอกชนได้มากขึ้น รวมทั้งบริษัทประกันภัยสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงและควบคุมต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายตอบโจทย์ผู้บริโภค และในภาพรวมยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศ เสริมสร้างความยั่งยืนให้กับระบบประกันสุขภาพโดยรวมอีกด้วย
นายพิรัตน์ วงศ์สายสุวรรณ นายทะเบียน และประธานคณะกรรมการกฎหมายและกฎระเบียบเปิดเผยถึงกรณีที่มี การใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัย โดยนายหน้าประกันวินาศภัยว่า ปัจจุบันพบว่าผู้เอาประกันภัยที่ทำประกันภัยรถยนต์กับบริษัทประกันภัย ส่วนหนึ่งได้มีการทำสัญญากู้ยืมเงินกับบริษัทนายหน้าประกันภัย เพื่อชำระค่าเบี้ยประกันภัยรถยนต์ เนื่องจากการประกันภัยรถยนต์จะต้องมีการชำระค่าเบี้ยประกันภัยก่อนจึงจะได้รับความคุ้มครองตามหลัก Cash Before Cover ดังนั้น จึงแบ่งเบาภาระในการชำระเบี้ยประกันภัย โดยการกู้ยืมเงินเพื่อชำระค่าเบี้ยประกันภัย และไปชำระเงินเป็นรายงวดกับนายหน้าประกันวินาศภัยแทน ซึ่งสัญญาเงินกู้ยืมเงินดังกล่าวได้มีการกำหนดเงื่อนไขสัญญาในกรณีที่ผู้กู้ไม่สามารถชำระเงินกู้เป็นรายงวดได้ ให้ผู้กู้ (ผู้เอาประกันภัย) มอบอำนาจล่วงหน้าเพื่อโอนสิทธิให้นายหน้าประกันภัยสามารถใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัย และรับคืนค่าเบี้ยประกันภัยตามสัดส่วนระยะเวลาความคุ้มครองที่เหลือ เพื่อนำค่าเบี้ยประกันภัยที่ได้มาหักกลบลบหนี้กับเงินกู้ที่ค้างชำระได้
จากกรณีดังกล่าวสมาคมนายหน้าประกันภัยไทย ได้มีการหารือกับ สมาคมประกันวินาศภัยไทย และสำนักงาน คปภ. เพื่อให้บริษัทนายหน้าประกันภัย และบริษัทประกันภัยมีแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องตามกฎหมาย และไม่กระทบสิทธิของผู้เอาประกันภัยในกรณีที่นายหน้าประกันภัยใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยแทนผู้เอาประกันภัย
ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. ได้กำหนดแนวทางการปฏิบัติว่า การทำสัญญาระหว่างผู้เอาประกันภัยกับบริษัทประกันภัย (สัญญาประกันภัย) และการทำสัญญาระหว่างผู้เอาประกันภัย (ลูกหนี้) กับบริษัทนายหน้าประกันภัย (เจ้าหนี้) (สัญญากู้ยืม) จะต้องแยกออกจากกันอย่างชัดเจน ดังนั้น กรณีผู้เอาประกันภัยไม่สามารถผ่อนชำระเงินกู้ (ค่าเบี้ยประกันภัย) แก่บริษัทนายหน้าประกันภัยได้ และต่อมาบริษัทนายหน้าประกันภัยได้ใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยตามสัญญากู้ยืมนั้น ไม่ใช่หน้าที่ตามกฎหมายของนายหน้าประกันภัย อีกทั้ง สัญญาดังกล่าวเป็นแบบสำเร็จรูปที่กำหนดให้ผู้เอาประกันภัยต้องมอบอำนาจบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่นายหน้าประกันภัย ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้เอาประกันภัยสูญเสียสิทธิโดยไม่ทราบหรือเข้าใจเงื่อนไขอย่างชัดเจน จึงอาจเข้าข่ายเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม และเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักกฎหมาย รวมถึงยังเข้าลักษณะเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้แทนของผู้เอาประกันภัย ซึ่งนายหน้าประกันภัยอาจถูกเพิกถอนใบอนุญาตได้ตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัย
แต่อย่างไรก็ตาม หากได้มีการทำสัญญาเงินกู้เพื่อนำมาชำระเบี้ยประกันภัย แต่ผู้เอาประกันภัยไม่สามารถผ่อนชำระค่าเบี้ยประกันภัยได้ บริษัทนายหน้าประกันภัยจะทำการยกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยและรับคืนค่าเบี้ยประกันภัยได้ จะต้องได้รับความยินยอมอย่างชัดเจนจากผู้เอาประกันภัย ดังนี้
1. หากมีการผิดนัดชำระหนี้ และผู้เอาประกันภัยที่ประสงค์จะมอบอำนาจให้นายหน้าประกันภัยเป็นผู้ดำเนินการยกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยแทน ต้องจัดให้มีเอกสารแสดงเจตนารมณ์ที่ชัดเจนภายหลังผิดนัดชำระหนี้ เช่น หนังสือมอบอำนาจ ข้อความทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือไฟล์เสียง
2. นายหน้าประกันภัยสามารถได้รับคืนเบี้ยประกันภัยตามสัดส่วนที่เหลืออยู่เพื่อนำมาหักกลบลบหนี้ จะสามารถกระทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับความยินยอมที่ชัดแจ้งจากผู้เอาประกันภัยแล้วเท่านั้น
ทั้งนี้ แนวปฎิบัติดังกล่าวเพื่อเป็นการคุ้มครองผู้เอาประกันภัยเพื่อให้ได้รับความคุ้มครองตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยที่กำหนดไว้ และป้องกันเรื่องร้องเรียนในอนาคตที่อาจจะเกิดขึ้น