มร.ลาร์ส ไฮบุทสกี้ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. อลิอันซ์อยุธยา ประกันภัย เปิดเผยว่า ปี 2566 ถือเป็นปีแห่งการเติบโตก้าวกระโดด เนื่องจากเมื่อปีที่แล้วได้ทำการควบรวมกิจการของบริษัท เอ็ทน่า (ประเทศไทย) หรือ aetna เป็นแบรนด์ อลิอันซ์ อยุธยา ได้เสร็จสิ้นสมบูรณ์ในวันที่ 1 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา ทำให้ อลิอันซ์ อยุธยา ประกันภัย เพิ่มส่วนแบ่งการตลาดของประกันภัยวินาศภัยขยับขึ้นเป็นอันดับ 8 หรือติด Top 10 ผลจากการควบรวมนี้ จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขยายธุรกิจประกันสุขภาพ หลังจากได้พอร์ทจากทางเอ็ทน่าเข้ามาเสริมทัพ ทำให้ อลิอันซ์ อยุธยา แข็งแกร่งขึ้น และมีโครงสร้างพอร์ตที่ครอบคลุมบริการประกันภัยตั้งแต่ประกันรถ(มอเตอร์) ประกันภัยไม่ใช่รถยนต์(นอนมอเตอร์) และประกันสุขภาพ และผลักดันการสร้างเบี้ยประกันภัยรับรวมแตะ 1.02 หมื่นล้านบาท เติบโต 10% จากสิ้นปีก่อนที่อยู่ 6.7 พันล้านบาท พร้อมกันนี้มองหาธุรกิจใหม่สร้างโอกาสเติบโต ผลักดันสู่ Top 5
ทั้งนี้ โครงสร้างพอร์ตของบริษัทในปีนี้จะเป็นมอเตอร์สัดส่วน 32% นอนมอเตอร์ 34% และประกันสุขภาพ 34% ส่วนการขยายฐานลูกค้ามีเป้าหมายเพิ่มกลุ่มลูกค้าองค์กรและเอสเอ็มอี โดยตั้งเป้าหมายจำนวนลูกค้าเพิ่มอีก 10% จากปัจจุบันที่มีฐานลูกค้า 1.1 ล้านราย
“ปีนี้ ถือเป็นปีที่อลิอันซ์ อยุธยา ประกันภัย อยู่ในจุดที่แข็งแกร่งพร้อมสร้างการเติบโตด้วยแบรนด์ที่มีความแข็งแกร่ง ความมั่นคงด้านการเงิน และความเชี่ยวชาญทางธุรกิจทั้งวินาศภัยและสุขภาพ เราพร้อมมอบผลิตภัณฑ์และบริการที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า แต่ก็มีความท้าทายที่ต้องระมัดระวัง เพราะตลาดยังมีความไม่แน่นอนทั้งจากความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ในหลายประเทศ และเงินเฟ้อสหรัฐ และยุโรป ยังอยู่ในระดับสูง ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงส่งผลกระทบต่อตลาดประกันภัย” มร.ลาร์ส ไฮบุทสกี้ กล่าว
สำหรับผลการดำเนินงานในปี 2565 ที่ผ่านมา บริษัทสร้างผลงานเบี้ยประกันภัยรวม6.7 พันล้าน เกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ และเติบโตอยู่ที่ 17 % ในขณะที่ตลาดประกันวินาศภัยเติบโตเพียงแค่ 3.6% โดยเบี้ยประกันภัยรับรวมทั้งหมด มาจากช่องทางธนาคารและพันธมิตร 3.1 พันล้านบาท เติบโต 28%และช่องทางตัวแทนและโบรกเกอร์ 2.5 พันล้านบาท เติบโต 14% และลูกค้าองค์กร 1.1 พันล้านบาท โดยในธุรกิจทั้งหมดนี้ แบ่งเป็นสัดส่วนเบี้ยประกันภัยที่มาจากมอเตอร์ 50%และ นอนมอเตอร์ 50% โดยเบี้ยมอเอตร์ 3.3 พันล้านบาท และเบี้ยนอน มอเตอร์ 3.4 พันล้านบาท ในขณะที่ฐานะการเงินยังแข็งแกร่ง ด้วยสินทรัพย์กว่า 1.07 หมื่นล้านบาท มีเงินกองทุนสำรอง (Risk-based capital) ถึงกว่า365% สูงกว่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนดถึง 225% (ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565)
นายลาร์ส กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีนี้บริษัทจะรุกขยายตลาดประกันสุขภาพมากขึ้น โดยจะมีส่วนแบ่งการตลาดอันดับ 2 ของตลาดประกันสุขภาพในไทย โดยจะพัฒนาช่องทางใหม่เป็นผู้เชี่ยวชาญการแนะนำประกันสุขภาพให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าเฉพาะบุคคล นอกจากนี้มุ่งยกระดับแพลตฟอร์มดิจิทัล การนำ AI เข้ามาใช้ในการเคลมบนดิจิทัล แพลตฟอร์ม ภายใน 3 นาที
สำหรับการสร้างองค์กรสู่การเติบโต ผ่าน 3 กลยุทธ์หลัก ได้แก่
1 Growth Engine ผลักดันการเติบโตผ่านช่องทางการขายที่หลากหลาย ให้กับลูกค้าทั้งรายเดี่ยว SME และลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่ โดยบริษัทฯตั้งเป้าขยายธุรกิจทั่วประเทศผ่าน ช่องทางตัวแทนและโบรกเกอร์ พัฒนาผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยีเครื่องมือการขายที่ง่าย รวดเร็ว ช่วยปิดการขายที่มีประสิทธิภาพ ช่องทางพันธมิตร เน้นการขยายความร่วมมือและโซลูชั่นส์ที่ปรับให้เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละราย ให้กับสถาบันการเงินธนาคาร และธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ต่างๆ ช่องทางขายตรงสำหรับประกันสุขภาพ เน้นการขายประกันสุขภาพผ่านเครือข่ายและทีมงานผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ และยังคงมุ่งขยายธุรกิจทีมช่องทางธุรกิจ เน้นให้ความคุ้มครองลูกค้ารายใหญ่
2 Business Platform ยกระดับรูปแบบการดำเนินธุรกิจ เน้นการพัฒนาบริการที่ยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง โดยในปีที่ผ่านมา บริษัทได้รับคะแนนความพึงพอใจจากลูกค้าในระดับที่ลูกค้ามีความภักดีต่อแบรนด์ในระดับสูงมาก คะแนนสูงกว่าค่ามาตรฐานตลาดสองเท่า และมุ่งเดินหน้าพัฒนาบริการ ไม่ว่าจะเป็นอู่ซ่อมรถยนต์และบริษัทสำรวจภัย ซึ่งเป็นด่านหน้าในการให้บริการลูกค้า อีกทั้ง สามารถการเคลมด้วยตัวเองผ่านแอปพลิเคชัน จะสามารถอนุมัติการเคลมได้จบกระบวนการใน 3 นาที
3 Future Positioning สร้างอนาคตสู่ความแข็งแกร่งและยั่งยืน ให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมองค์กร ความผูกพันของพนักงาน โดยที่ผ่านมา คะแนนความผูกพันของพนักงานพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2562 จึงงอยากผลักดันให้อลิอันซ์ อยุธยา เป็นนายจ้างที่คนอยากร่วมงานด้วยมากที่สุด สร้างการมีส่วนร่วมของพนักงานในการใส่ใจสิ่งแวดล้อมและดูแลสังคม