Economies

ธปท.  ชี้ภาษีทรัมป์ ช็อตเศรษฐกิจไทยอ่วม จับตา 30 เม.ย. ประชุม กนง. จ่อปรับเป้า GDP ไทยโตต่ำกว่าที่คาดไว้  2.5% 
17 เม.ย 2568

ธปท. ชี้ภาษีทรัมป์ ช็อตเศรษฐกิจไทยน่วม เปิดผลกระทบ 5 ด้าน ”ตลาดการเงินผันผวน-การลงทุนชะลอ-ภาคส่งออกอ่วม-การแข่งขันทั่วโลกรุนแรงขึ้น-เศรษฐกิจโลกแผ่ว” จับตา 30 เม.ย. ประชุม กนง. จ่อปรับเป้า GDP ไทยโตต่ำกว่าที่คาดไว้  2.5% 

 

นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล”ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) วิเคราะห์ผลกระทบเบื้องต้นของนโยบายการค้าโลกต่อเศรษฐกิจไทย ว่า  นโยบายการค้าของสหรัฐฯ รวมถึงการตอบโต้ของประเทศเศรษฐกิจหลัก จะส่งผลต่อภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจ การเงิน และการค้าโลกอย่างมีนัย สถานการณ์คาดว่าจะยืดเยื้อ โดยผลกระทบจะส่งผ่านมายังเศรษฐกิจไทยในหลายช่องทาง และใช้เวลากว่าจะเห็นผลที่ชัดเจน และในระยะสั้น ตลาดการเงินผันผวนขึ้น อย่างไรก็ตามตลาดการเงินไทยโดยรวมยังทำงานได้เป็นปกติ  ส่วนผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจตอนนี้เริ่มเห็นการผลิต การค้า และการลงทุนบางส่วนชะลอเพื่อรอความชัดเจน ขณะที่จะเห็นผลของ tariff ต่อการส่งออกมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี ทั้งนี้ ความรุนแรงของผลกระทบจะขึ้นกับภาษีที่ไทยถูกจัดเก็บเทียบกับประเทศคู่ค้า และการตอบโต้ระหว่างประเทศเศรษฐกิจหลักและสหรัฐฯ ในเบื้องต้นประเมินว่า ภาษีสหรัฐจะส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจไทย (GDP) ต่ำกว่าคาดการณ์ในปัจจุบันที่อยู่ระดับ 2.5%  โดยในการประชุมคณะกรรมการนโยบายกาาเงิน (กนง.) วันที่ 30 เม.ย. นี้ จะมีการทบทวนตัวเลขต่างๆโดยเฉพาะภาคการส่งออก การลงทุน และภาคการผลิตที่จะต้องเผชิญกับแรงกดดันจากภาษีนำเข้าสหรัฐที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น ส่วนอัตราเงินเฟ้อที่ปรับลดลง เป็นผลจากด้าน Supply ที่ราคาน้ำมันลดลง ซึ่งจะต้องกลับไปดูฝั่ง Demand ด้วย อย่างไรก็ตาม ไตรมาสแรก เงินเฟ้อทั่วไป อยํ่ที่ใกช้เคียง 1% แต่หลังจากนี้ ผลกระทบจะเริ่มเข้ามา

 

สำหรับแนวโน้มโอกาสภาคส่งออกไทยจะติดลบ ในปีนี้หรือไม่  นายสักกะภพ กล่าวว่า ในไตรมาสแรกเราเห็นภาคส่งออกเร่งตัวขึ้นและแนวโน้มไตรมาสสองภาคส่งออกอย่างเร่งตัวต่อเนื่อง แต่ในครึ่งปีหลังจะเห็นผลผลกระทบของภาคส่งออกมากขึ้น และจะต่อเนื่องไปถึงปี 2569  ที่จะกระทบต่อภาคส่งออกเต็มๆปี ทั้งนี้ไทยส่งออกไปสหรัฐ 18% และส่งออกไปจีน 11%

 

“ ความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าโลก เป็นช็อกใหญ่ๆ ซึ่งจะกระทบไทยในหลายช่องทางและช็อปที่เกิดขึ้นใครก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ จะเป็นช็อคที่อยู่กับเราไปนานไม่ได้หายไปในทันที แต่จะเปลี่ยนแปลงพื้นฐานของการค้าโลกจริง ๆ จนกว่าจะเจอจุดสมดุลใหม่” 

 

ธปท ได้วิเคราะห์ผลกระทบต่อเศรษฐกิจการเงินไทยจะมีผ่าน 5 ช่องทางหลัก ดังนี้

1. ตลาดการเงิน: ราคาสินทรัพย์ในตลาดการเงินโลกและไทยผันผวนมากขึ้น โดยรวมสภาพคล่องและกลไกการทำธุรกรรม (market functioning) ยังเป็นไปตามปกติ ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้นจากช่วงก่อนวันที่ 2 เมษายน เล็กน้อย (2.71% ณ 12.00 น. 17 เม.ย. 68 เทียบกับ JPY และ KRW ที่แข็งค่าขึ้น 4.75% และ 3.11% ตามลำดับ) สอดคล้องกับภูมิภาค ตามค่าเงิน USD ที่อ่อนเร็วจากความกังวลต่อผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่วนตลาดหุ้นปรับลดลงสอดคล้องกับภูมิภาค ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยแต่ยังไม่เห็นการทำธุรกรรมที่ผิดปกติจากกลุ่มนักลงทุนสถาบัน ในส่วนของภาวะการระดมทุนผ่านหุ้นกู้โดยรวมยังเป็นปกติ โดยต้องติดตามผลจากภาวะการเงินต่อธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก tariff อย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ เสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดี 

 

2. การลงทุน: ความไม่แน่นอนที่ยังสูงต่อเนื่องทำให้การตัดสินใจทางธุรกิจและการลงทุน ชะลอออกไป (wait and see) โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ส่งออกไปสหรัฐฯ เป็นหลัก (อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักร และยานยนต์) ซึ่งเริ่มเห็นผลดังกล่าวบ้างแล้ว จากการหารือกับผู้ประกอบการในกลุ่มดังกล่าว มีบางส่วนรอความชัดเจนเพื่อตัดสินใจการลงทุนใหม่จากแผนเดิมที่วางไว้ ในระยะต่อไปหากไทยถูกเก็บภาษีในอัตราที่สูงกว่าประเทศอื่นอาจเห็นการย้ายฐานการผลิตออกจากไทย

 

3. การส่งออก: เป็นช่องทางหลักที่ได้รับผลกระทบจาก tariff แต่ยังมีความไม่แน่นอนของนโยบายภาษี เพราะมีการชะลอการบังคับใช้ reciprocal tariff ออกไป 90 วัน จึงคาดว่าจะเริ่มเห็นผลกระทบชัดเจนขึ้นตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปีเป็นต้นไป และน่าจะเห็นการเร่งส่งออกใน Q2 เช่น อาหารแปรรูป โดย exposure ของการส่งออกไทยไปสหรัฐฯ คิดเป็น 18% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย และคิดเป็น 2.2% ของ GDP โดย sector หลัก ๆ ที่จะได้รับผลกระทบ ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้า และอาหารแปรรูป นอกจากนี้ จะมีผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทยที่อยู่ใน supply chain ของโลก ที่ผลิตเพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ ด้วย (ยาง ชิ้นส่วนยานยนต์ เหล็ก และเคมีภัณฑ์ คิดเป็นประมาณ 4.3% ของการส่งออกไทย)

 

4. การแข่งขันที่จะรุนแรงขึ้น: สินค้าไทยจะต้องเผชิญกับการแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ที่ส่งออกไปสหรัฐฯ ได้น้อยลง และหันมาส่งออกไปยังตลาดเดียวกับไทย รวมถึงส่งมายังไทย โดยเฉพาะหมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ โลหะ เครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้า และเคมีภัณฑ์ ซึ่งจะซ้ำเติมปัญหาในภาคการผลิตที่มีอยู่เดิม

 

5. เศรษฐกิจโลกที่จะชะลอลง: การส่งออกโดยรวมและรายรับการท่องเที่ยวอาจถูกกระทบจากเศรษกิจคู่ค้าที่ชะลอตัว รวมทั้งราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกจะปรับลดลง ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการนำเข้าและเงินเฟ้อของไทยชะลอลงจากปัจจัยด้านอุปทาน

 

ทั้งนี้ ธปท. จะติดตามสถานการณ์ภาพรวมอย่างใกล้ชิด และจะจับตาโอกาสที่อาจเกิด disruption ใน sector สำคัญที่ส่งออกไปสหรัฐฯ รวมถึงการเข้ามาแข่งขันของสินค้านำเข้าโดยจะติดตามข้อมูลเร็วด้าน (1) การค้า เช่น ธุรกรรมการส่งออกและนำเข้า (2) การผลิตและการจ้างงาน เช่น การแจ้งหยุดกิจการชั่วคราว ตาม ม.75 พรบ. คุ้มครองแรงงานฯ (3) ภาวะการเงิน เช่น ความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ และต้นทุนการกู้ยืมผ่านหุ้นกู้ภาคเอกชนและ (4) sentiment การลงทุน เช่น การขออนุมัติส่งเสริมการลงทุน และการขอขยายเวลาการออกบัตรฯ เพื่อเลื่อนการลงทุนออกไป

 

นอกจากนี้ ธปท. จะดูแลการทำงานของกลไกตลาดต่าง ๆ (market functioning) ให้ดำเนินเป็นปกติอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งดูแลความผันผวนในตลาดการเงินที่สูงกว่าปกติในช่วงนี้ เพื่อลดผลกระทบต่อการปรับตัวของภาคเศรษฐกิจจริง

 

อนึ่ง นโยบายการค้าโลกที่เปลี่ยนไป ถือเป็นปัจจัยที่จะเปลี่ยนโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยและโลกอย่างถาวร ทำให้ต้องเร่งปรับตัวโดยในระยะสั้น นอกจากเรื่องการเร่งเจรจากับสหรัฐฯ ไทยควรมีมาตรการรับมือ ทั้งการแข่งขันของสินค้าจากต่างประเทศ และป้องกันการนำเข้าสินค้ามาเพื่อส่งออกไปยังสหรัฐฯ ผ่านไทย (transshipment) เช่น กำหนดมาตรฐานสินค้านำเข้าและความคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศ การเร่งรัดกระบวนการไต่สวน (AD/CVD และ AC) ข้อพิพาทกับต่างประเทศ การเข้มงวดกับการตรวจสอบสินค้าส่งออกไปสหรัฐฯ ป้องกันการสวมสิทธิจากประเทศที่สาม เป็นต้น 

 

ในระยะยาว ไทยควรขยายตลาดและเสริมสร้าง supply chain โดยเฉพาะกับประเทศในภูมิภาค และต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อให้แข่งขันในห่วงโซ่อุปทานของโลกได้ เช่น ยกระดับภาคการผลิตและภาคบริการที่ไทยมีศักยภาพ เช่น สินค้าเกษตรแปรรูป อาหาร การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ โดยเฉพาะการวิจัยและนวัตกรรม ทักษะแรงงาน และการปรับปรุงกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค

 

Copyrights © 2021 All Rights Reserved by Clubhoon.com