Economies

สศค. หั่น GDP ไทยปีนี้คาดโต 2.1% จากคาดเดิม 3% ภาคส่งออกโต 2.3%พร้อมรับมือภาษีทรัมป์ เตรียมแผน 5 ด้านพยุงเศรษฐกิจ
1 พ.ค. 2568

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า สศค.ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปีนี้ ลงเหลือ 2.1% โดยอยู่ในช่วงคาดการณ์ที่ 1.6-2.6%  จากเดิมคาด 2.5-3.5% หรือค่ากลางที่ 3% โดยเป็นผลจากแรงกดดันด้านการค้าโลก โดยเฉพาะผลกระทบจากนโยบายภาษีนำเข้าของสหรัฐอเมริกา และการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ส่วนภาคการส่งออกคาดขยายตัว  2.3% ภายใต้การประกาศเลื่อนการบังคับใช้นโยบายภาษีตอบโต้ ( Reciprocal Tariff ) ออกไป 90 วัน  และการยกเว้นภาษีสำหรับสินค้าบางประเภท เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องคอมพิวเตอร์ของสหรัฐฯ  ทำให้ช่วยบรรเทาผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยได้บางส่วน  ส่วนการนำเข้าสินค้าคาดโต  1 %  อย่างไรก็ตาม นโยบายการค้าจากสหรัฐในระยะต่อไป ยังมีความไม่แน่นอนสูง และมีโอกาสเปลี่ยนแปลงตชอด  และอาจส่งผลกระทบต่อทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจไทยและประเทศคู่ค้าอย่างมีนัยสำคัญ  ตอนนี้จำเป็นต้องมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด 

 

ทั้งนี้  ปัจจัยที่ต้องติดตา ม คือ  นโยบายด้านภาษีของสหรัฐฯ และการตอบโต้ของประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะประเทศจีน  ,ทิศทางของการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ,การไหลเข้าของสินค้าจากประเทศที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายด้านภาษีที่ย้ายตลาดเข้าสู่ไทยมากขึ้น , ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลกในภูมิภาคต่าง ๆ , การย้ายฐานการลงทุนและการผลิตในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายด้านภาษี ,ความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย ,ปัญหาหนี้ครัวเรือนและภาคธุรกิจของไทยที่อาจจะเพิ่มขึ้นในอนาคต

 

“อย่างไรก็ตาม คลังได้เตรียมความพร้อมดูแลเศรษฐกิจในประเทศ โดยเฉพาะการเร่งรัดการเบิกจ่ายในช่วงที่เหลือของปีนี้ ซึ่งที่ผ่านมา การเบิกจ่ายปีนี้ดีกว่าปีที่แล้วและเกินเป้าหมายด้วย  หากช่วงที่เหลือของปีนี้ มีโอกาสที่จะเกินเป้าในการเบิกจ่ายได้จากที่ตั้งไว้ที่ 98%  อาจมีโอกาสที่เศรษฐกิจขยายตัวสูงกว่านี้เป็นไปได้ โดยเน้นเรื่องการเบิกจ่าย ขณะเดียวกัน ยังเตรียมเรื่องการบูรณาการต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางด้วย การ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่จะปรับปรุงเงื่อนไขของโครงการคุณสู้เราช่วย” นายพรชัย กล่าว

 

โดย สศค. คาดเศรษฐกิจในประเทศยังได้รับแรงหนุนจากการบริโภคภาคเอกชนที่ยังขยายตัวดี  3.2% ตามกำลังซื้อในประเทศและรายได้ภาคท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว ซึ่งคาดจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศไทย 36.5 ล้านคน ขยายตัว 2.7% ส่วนการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว  0.4%  การบริโภคภาครัฐคาดขยายตัว 1.2% และการลงทุนภาครัฐขยายตัว 2.8%จากการเบิกจ่ายงบประมาณอย่างต่อเนื่อง และการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานที่จะมีการเร่งรัดเบิกจ่ายในช่วงไตรมาสที่ 3 – 4 ของปีงบประมาณ 68  และต่อเนื่องไปในไตรมาสที่ 1 ของปีงบประมาณ 69

 

ด้านเสถียรภาพภายในประเทศอยู่ในระดับมั่นคง โดยคาดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงอยู่ที่ 0.8% ต่อปี ตามทิศทางราคาน้ำมันที่ลดลง ขณะที่เสถียรภาพภายนอกประเทศ ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มเกินดุล 12.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

ทั้งนี้ การประมาณการเศรษฐกิจไทยในครั้งนี้อิงตามกรณีฐาน (Base Case)  โดยมีสมมติฐานว่ารัฐบาลสหรัฐฯ มีการผ่อนปรนด้านนโยบายภาษีกับประเทศไทยและประเทศคู่ค้า ส่วนในกรณีสูง (High Case)  ได้ทำสมมติฐานว่า รัฐบาลสหรัฐฯ จะปรับลดภาษีนำเข้าของไทยและประเทศอื่น ๆ ลงมาอยู่ที่อัตราเรียกเก็บ  10% จะส่งผลบวกให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นจากกรณีฐานเป็น 2.5%  ทำให้แรงส่งหลักมาจากการส่งออกที่ขยายตัวมากขึ้น และการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ฟื้นตัวตามการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามความเชื่อมั่นที่สูงขึ้น ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะมีการประเมินอีกครั้ง เมื่อสถานการณ์มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น

 

ส่วนกระทรวงการคลังได้เตรียมตัวรับมือและบรรเทาสถานการณ์ที่เกิดขึ้น 5 ด้าน ดังนี้ เรื่องแรก ดำเนินการเจรจากับสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่องเพื่อแสวงหาแนวทางที่เป็นประโยชน์ร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย  เรื่องที่สอง เตรียมแหล่งเงินเพื่อจัดทำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการดำเนินนโยบายการคลังให้มีขนาดที่เหมาะสมกับสถานการณ์  ควบคู่ไปกับการบรรเทาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับกลุ่มเปราะบาง อันเนื่องมาจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ เรื่องที่สาม เร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณในช่วงที่เหลือของปี 68 เพื่อสนับสนุนการกระตุ้นเศรษฐกิจ เรื่องที่สี่ ผลักดันความช่วยเหลือผู้ส่งออกผ่านธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank)  เรื่องที่ห้า บูรณาการกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการดูแลกลุ่มเปราะบางและกิจการขนาดเล็กที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์นี้

 

นทยพรขัย กล่าวถึงฐานะการคลังของประเทศ และการปรับมุมมอง (outlook) ประเทศไทย ของ Moody’s ว่า ฐานะทางการคลังยังแข็งแรง และผลการจัดเก็บรายได้ยังเป็นไปตามเป้าหมาย  ขอยืนยันฐานะทางการคลังเบิกจ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และพร้อมใช้จ่ายในปีงบประมาณที่เหลือ ส่วนกรอบเพดานหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ยังอยู่ที่ 70% โดยปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 64% ต่อจีดีพี ส่วนการปรับลดแนวโน้ม จะมีผลต่อต้นทุนของไทยหรือไม่นั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อยู่ระหว่างการพิจารณา และในระยะแรกยืนยันว่า ยังไม่ได้รับผลกระทบ

Copyrights © 2021 All Rights Reserved by Clubhoon.com