Economies

ธปท. ลุยยกระดับมาตรการจัดการบัญชีม้าเพิ่มเติม อย่างเข้มข้น และผลักดันแนวทางการร่วมรับผิดชอบ เพิ่มประสิทธิภาพสกัดภัยทุจริตการเงินใหม่ๆ
30 ม.ค. 2568

ธปท. เดินหน้ายกระดับมาตรการจัดการบัญชีม้าเพิ่มเติม  เพิ่มความเข้มข้นและขยายผลการจัดการบัญชีต้องสงสัย พร้อมผนึกธนาคารดำเนินการเชิงรุกในการป้องกันความเสี่ยงและแก้ปัญหาภัยทุจริตทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

 

นางรุ่ง มัลลิกะมาส รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาภัยทุจริตทางการเงินมาอย่างต่อเนื่อง โดยที่ผ่านมา มีการดำเนินการสำคัญ อาทิการกำกับดูแลให้สถาบันการเงินมีมาตรฐานการให้บริการ mobile banking ที่ปลอดภัยมากขึ้น การยกระดับการจัดการบัญชีม้าจากระดับบัญชีเป็นระดับบุคคล ซึ่งช่วยให้บัญชีม้าถูกระงับเป็นจำนวนมากและเปิดใหม่ได้ยากขึ้น  อย่างไรก็ดี รูปแบบและพฤติกรรมของมิจฉาชีพที่เปลี่ยนไปต่อเนื่อง ทำให้ความเสียหายจากภัยทุจริตทางการเงินไม่ได้ลดลง ในครั้งนี้ ธปท. จึงยกระดับมาตรการเชิงป้องกัน โดยเพิ่มความเข้มข้นและขยายผลการจัดการบัญชีต้องสงสัย เพื่อให้ธนาคารสามารถดำเนินการเชิงรุกในการป้องกันความเสี่ยงและแก้ปัญหาภัยทุจริตทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

 

นางสาวดารณี แซ่จู ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับระบบการชำระเงินและคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ชี้แจงว่ามาตรการยกระดับการจัดการบัญชีม้าเพิ่มเติม ประกอบด้วย

1) การกวาดล้างบัญชีม้าให้ได้มากขึ้น โดยปรับเงื่อนไขการเข้าข่ายเป็นบัญชีม้าให้เข้มขึ้นโดยคำนึงถึงปัจจัยอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น พฤติกรรมการโอนของบัญชีม้า มูลค่าของธุรกรรม เพื่อให้ครอบคลุมพฤติกรรมของมิจฉาชีพที่เปลี่ยนไป รวมทั้งสามารถดำเนินการกับบัญชีม้าได้แม้ยังไม่ได้รับแจ้งจากผู้เสียหาย เพื่อยกระดับการจัดการบัญชีม้าแต่ละระดับให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ 

 

2) การจัดการบัญชีม้าระดับบุคคลที่เข้มข้นขึ้น โดยธนาคารต้องขยายให้การระงับการโอนเงินออกจากบัญชีม้าและการปฏิเสธการเปิดบัญชีใหม่ ครอบคลุมไปถึงกรณีของบัญชีที่มีความเสี่ยงสูงว่าจะเป็นบัญชีม้า   (แต่ยังไม่ถูกแจ้งว่าทำให้เกิดความเสียหาย) เพิ่มเติมด้วย รวมทั้งต้องกันเงินไม่ให้เข้าไปยังบัญชีของม้าทุกประเภทที่ระบุได้ชัดเจนว่ามีความเสี่ยงสูง นอกจากนี้ ธนาคารต้องแจ้งเตือนให้ผู้โอนรู้ตัวว่าอาจกำลังโอนเงินไปยังบัญชีม้า เพื่อป้องกันความเสียหายตั้งแต่ต้น และผู้ถูกหลอกไม่ต้องเสียเวลาในการดำเนินการทางกฎหมายเพื่อรับเงินคืน

 

3) การขยายการจัดการในวงที่กว้างขึ้น โดยกำหนดให้ธนาคารต้องแลกเปลี่ยนรายชื่อบุคคลที่ธนาคารตรวจสอบว่ามีพฤติกรรมต้องสงสัยระหว่างกันเพิ่มเติมแม้ยังไม่ได้รับแจ้งจากผู้เสียหาย จากเดิมที่แลกเปลี่ยนกันเฉพาะรายชื่อบุคคลที่เข้าข่ายการกระทำความผิดตามฐานข้อมูลสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และรายชื่อบุคคลที่ถูกแจ้งความหรือมีส่วนเกี่ยวข้องในเส้นทางการเงินทุจริตเท่านั้น เพื่อให้ธนาคารดำเนินการป้องกันภัยทุจริตได้ครอบคลุม รวดเร็ว เป็นมาตรฐานเดียวกันมากขึ้น

 

นอกจากนี้ ธปท. ยังกำหนดให้ธนาคารต้องพัฒนาการจัดการบัญชีม้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดความเสี่ยงจากรูปแบบการหลอกลวงและพฤติกรรมของมิจฉาชีพในอนาคต เช่น การปรับปรุงเงื่อนไขการตรวจจับบัญชีม้าให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ การพัฒนาระบบการตรวจจับบัญชีม้าและพฤติกรรมผิดปกติของลูกค้า เพื่อให้ธนาคารสามารถดำเนินการได้อย่างเหมาะสมกับพฤติกรรมรายบุคคลอย่างรวดเร็ว ตลอดจนร่วมมือและแลกเปลี่ยนข้อมูลกับผู้กำกับดูแลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น เช่น สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ในการปิดช่องโหว่เส้นทางเงินที่สำคัญของมิจฉาชีพ 

 

ทั้งนี้ ธปท. เห็นว่าการแก้ไขปัญหาภัยทุจริตทางการเงินให้ได้อย่างยั่งยืน จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งภาคธนาคาร ผู้ให้บริการโทรคมนาคม (Telco) หน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประชาชนผู้ใช้บริการ ในการรับผิดชอบในหน้าที่ของตนเองตามขอบเขตมาตรฐานที่ผู้กำกับดูแลกำหนดไว้อย่างชัดเจน หากฝ่ายไหนละเลยการปฏิบัติตามเกณฑ์ที่กำหนด ควรที่จะต้องแสดงความรับผิดชอบและชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น (Shared responsibility) โดย ธปท. จะประกาศกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบที่ธนาคารพึงปฏิบัติให้ชัดเจน เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาความรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ร่วมกับผู้กำกับดูแลด้านอื่น ๆ ต่อไป

 

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2568  นางรุ่ง มัลลิกะมาส รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ตามที่ที่ประชุม ครม. วันที่ 28 มกราคม 2568 มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.ก. มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... นั้น ธปท. สนับสนุนหลักการของร่าง พ.ร.ก. ดังกล่าว และได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้ความเห็นเพื่อปรับร่าง พ.ร.ก. ให้สามารถนำมาใช้ในการยกระดับมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิผลยิ่งขึ้น ซึ่งรวมถึงการกำหนดกลไกที่ผู้ให้บริการที่เกี่ยวข้องต้องร่วมรับผิดชอบและชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นหากละเลยการปฏิบัติตามมาตรฐานที่หน่วยงานกำกับดูแลกำหนด ซึ่งเป็นทิศทางนโยบายที่ ธปท. ให้ความสำคัญและอยู่ระหว่างการผลักดันร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนมาต่อเนื่อง โดยในส่วนของ ธปท. จะมีการประกาศกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบที่สถาบันการเงินพึงปฏิบัติให้ชัดเจน เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาความรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ร่วมกับผู้ให้บริการด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องภายใต้ พ.ร.ก. ฉบับนี้และกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องต่อไป

Copyrights © 2021 All Rights Reserved by Clubhoon.com