Economies

รมว. คลัง เร่งปรับเกณฑ์ ‘ โครงการคุณสู้เราช่วย’ ขยายกลุ่มลูกหนี้เข้าร่วมได้มากขึ้น อีก 2 ล้านราย  ชงเข้าครม. กลางปีนี้  พร้อมเล็งแก้หนี้นอนแบงก์
1 พ.ค. 2568

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ให้สัมภาษณ์ ในงาน “MOF Journey 150 ปี เส้นทางการคลังไทย” ในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงการคลัง ครบรอบ 150 ปี ที่จัดขึ้นวันที่ 1–3 พ.ค.  2568 ณ Hall 3–4 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์  ว่า  กระทรวงคลัง กำลังพิจารณาปรับเกณฑ์ของโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” เพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มที่มีหนี้ที่สูงขึ้น  ซึ่งปัจจุบันโครงการนี้ มีเงื่อนไขมาตรการจ่าย ปิด จบ ที่กำหนดเงื่อนไขสำหรับลูกหนี้บุคคลธรรมดาที่เป็นหนี้เสีย (NPL) ที่มียอดหนี้คงค้างไม่เกิน 5 ,000 บาท   สามารถขอปรับโครงสร้างหนี้เพียงชำระหนี้ขั้นต่ำ 10% ของยอดหนี้คงค้างจะปิดหนี้จบทันที   โดยในเบื้องต้นจะปรับเพิ่มวงเงินหนี้คงค้างสูงขึ้นมาเป็นคนที่มีหนี้เสียวงเงิน  10,000 - 30,000  บาทต่อบัญชี เพื่อให้ครอบคลุมลูกหนี้มากขึ้นจากเกณฑ์เดิม  การปรับเกณฑ์เพิ่มกลุ่มคนที่มีหนี้สูงขึ้นเพราะต้องการดึงให้เข้ามาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กัน  เนื่องจากในเฟสแรก (เกณฑ์หนี้ไม่เกิน 5,000 บาทเดิม) พบว่าคนที่เข้ามาในโครงการส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม S, M ซึ่งจะเห็นได้จากยอดหนี้ของกลุ่ม S, M ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาลดลง ทำให้คนที่จะไหลเข้าสู่ภาวะหนี้เสีย หรือ NPL น้อยลง ในเบื้องต้น คาดว่าจะสามารถนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ราวเดือน มิ.ย.- ก.ค. 68  นี้

 

 

พร้อมกันนี้  จะแก้ไขกลุ่มลูกหนี้  NPL มีมูลหนี้ที่ต่ำกว่า 100,000 บาท ซึ่งยังไม่ถึงขั้นต้องเข้าไปรับซื้อหนี้ หรือโอนหนี้ แต่มองว่าจะต้องปรับไปโดยธรรมชาติ โดยจะพิจารณาแยกเป็น 3 ส่วน คือ ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ธนาคารพาณิชย์  (แบงก์) และ นอนแบงก์ 

โดยกลุ่มสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เช่น ธนาคารออมสิน ที่มีลูกหนี้กลุ่มนี่จำนวนกว่า 400,000 รายธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน  67,000 ราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ค้างหนี้มานานหลายปี  ฝั่งของ(แบงก์)  ลูกหนี้กลุ่มนี้มีมูลหนี้รวม 1 หมื่นล้านบาท ส่วนนอนแบงก์ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นหนี้บัตรเครดิตและบัตรกดเงินสด  มียอดหนี้รวม 70,000 - 80,000 ล้านบาท  ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการทั้งขอข้อมูลรวบรวมตัวเลขจากแบงก์และนอนแบงก์  โดยในเบื้องต้นจะต้องมีการหารือร่วมกับหาแนวทางแก้ไขลูกหนี้เหล่านี้ต่อไป

 

“ถ้าแก้ 3 ส่วนนี้ได้  คิดเป็นยอดรวมลูกหนี้ 3 ล้านกว่าคน แปลว่ากลุ่มลูกหนี้ที่มีปัญหาอยู่ในระบบตอนนี้ 5.4 ล้านราย ก็จะหายไปแล้ว 3 ล้านกว่าราย” นายพิชัย กล่าว

 

สำหรับกลุ่มที่มีหนี้เสียวงเงิน  1 แสนบาทขึ้นไป  จำนวนประมาณ 2 ล้านคน  ส่วนใหญ่จะมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน  ดังนั้น คนที่จะแก้หนี้ได้ดีที่สุด คือ เจ้าของบัญชีเอง ด้วยวีธีปรับโครงสร้างหนี้  ซึ่งกระทรวงการคลังจะให้แต่ละธนาคารแยกหนี้เป็นประเภทต่างๆ เพราะใน 2 ล้านคน มีคนที่เป็นหนี้ 1 ล้านบาทขึ้นไป มียอหนี้รวม  5 แสนกว่าล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม SME ซึ่งช่วงที่ผ่านมาเป็นการพิจารณาตามข้อมูลที่มี  แต่ไม่ได้เจรจากับตัวผู้ประกอบการเอง และใกล้ชิดกับลูกค้าน้อย แต่เชื่อว่าในส่วนนี้ ธนาคารต่างๆที่เป็นเจ้าหนี้ได้ตั้งสำรองเกือบหมดแล้ว ซึ่งจะหาแนวทางการแก้หนี้ดังกล่าวต่อไป  

 

“หากแก้หนี้ได้ตามแนวทางดังกล่าว ก็อยากจะเห็นสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีลดลงเหลือต่ำกว่า 80% จากปัจจุบันที่อยู่ราว 86%ของจีดีพี” 

 

สำหรับการเติบโตของ เศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในไตรมาส 1 ปีนี้  ตนคาดว่า จีดีพีจะขยายตัวได้มากกว่า 2.5% และมีโอกาสจะใกล้เคียง 3% ได้ ส่วนแนวโน้มทั้งปี ยังมีความไม่แน่นอนจากมาตรการภาษีของสหรัฐที่จะมีผลกระทบต่อการส่งออกของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้หลายหน่วยงานให้มุมมองที่แตกต่างกันไปว่าอาจจะมีผลกระทบต่อปีนี้ให้ลดลงได้ตั้งแต่ 0.5-1.5% แต่ส่วนตัว ตนมองว่าต้องดูเป็นรายไตรมาส

 

“เพราะต้องรอความชัดเจนจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ ก่อนจะประเมินในภาพรวมออกมาได้  แตาเชื่อว่าเศรษฐกิจของหลายประเทศจะสะดุดลงจากมาตรการภาษีของสหรัฐ และน่าจะเห็นผลกระทบที่ชัดเจนได้ราวไตรมาส 3 ของปีนี้  ไทยจึงต้องหามาตรการ เพื่อทำให้ภาคส่วนต่าง ๆ ได้รับผลกระทบให้น้อยที่สุด และเพื่อเตรียมตัวรับมือในระยะ 1-3 ปีหน้า  แนวทางหนึ่ง คือการทบทวนงบประมาณปี 2569 โดยเฉพาะในโครงการที่ไม่เร่งด่วน  จะต้องไปดูว่าจะปรับเปลี่ยนได้อย่างไร เพื่อนำมาใช้ในโครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วนก่อน” นายพิชัยกล่าว 

 

Copyrights © 2021 All Rights Reserved by Clubhoon.com